ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองศรีอยุธยา ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดหน้าพระเมรุ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้น เพราะปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ในปี พ.ศ. ๑๙๒๕ สมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอู่ทองซึ่งถูกส่งไปครองเมืองลพบุรี ได้เสด็จยกกองทัพมาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากสมเด็จพระเจ้าทองลัน ซึ่งขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๗ วัน และเมื่อก่อการสำเร็จแล้ว ก็โปรดให้นำสมเด็จพระเจ้าทองลันไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยาและนับเป็นกษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกลงโทษโดยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี
ต่อมา เมื่อมีการประหารชีวิตพระเจ้าแผ่นดินหรือเชื้อพระวงศ์ครั้งใด วัดโคกพระยาก็จะถูกระบุว่าเป็นสถานที่ที่ใช้สำเร็จโทษทุกครั้งไป เท่าที่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา มีพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายเชื้อพระวงศ์ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณีที่วัดโคกพระยาแห่งนี้รวม ๕ พระองค์ และยังมีเจ้านายอีก ๖ พระองค์ ที่ถูกสำเร็จโทษมาจากที่อื่นแล้วนำพระศพมาฝังไว้ที่วัดนี้ ซึ่งความจริงน่าจะมีมากกว่านี้ เพราะการทำรัฐประหารผลัดแผ่นดินแต่ละครั้งย่อมหมายถึงชีวิตอีกหลายชีวิตของเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ที่ต้องพลอยรับเคราะห์กรรมถูกสำเร็จโทษไปด้วยในฐานะของผู้แพ้
อ้างอิง : https://www.silpa-mag.com/history/article_4522