ศาสนสถานในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช งดงามด้วยสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์บนที่ดินพระราชทาน และเป็นวัดคาทอลิกในไทยที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี พ.ศ. 2550
เรื่องราวการตั้งวัดเริ่มจากแต่เดิมสมเด็จพระสันตะปาปาได้แต่งตั้งพระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อตเป็นประมุขมิสซังสำหรับภาคตะวันออกไกล ต่อมาสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้จัดตั้งพระธรรมทูตซึ่งประกอบไปด้วยพระสังฆราชลังแบรต์ คุณพ่อเดอ บูร์ช และคุณพ่อเดดีเอร์ไปเผยแพร่ศาสนายังแคว้นตังเกี๋ย แคว้นโคชินไชน่า และจีน แต่เพราะเกิดการกีดกันทางศาสนาอย่างรุนแรงจนธรรมทูตไม่อาจเดินทางเข้าไปได้ แม้จะพยายามเข้าไปอีกเป็นครั้งที่สอง แต่เรือเกิดอับปางธรรมทูตจึงต้องเข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยาที่ค่ายคริสตังญวน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบข่าวจึงโปรดให้พระสังฆราชลังแบรต์เข้าเฝ้าและพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้กับพระสังฆราช ในปี ค.ศ. 1665 สังฆราชลังแบรต์สร้างโรงเรียน สำนักพระสังฆราช และวัดเป็นอาคารชั่วคราวขึ้น เรียกรวมๆ ว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ”
ต่อมามีการสร้างสามเณราลัย โรงพยาบาล กระทั่งปี ค.ศ. 1685 จึงมีการสร้างวัดเป็นอาคารถาวรขึ้น ซึ่งมาแล้วเสร็จเอาเมื่อปี ค.ศ. 1688 เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 ค่ายนักบุญยอแซฟถูกชาวพม่าทำลายจนย่อยยับ ทว่าคริสศาสนิกชนได้ช่วยกันสร้างขึ้นใหม่ ผู้ออกแบบอาคารคือ นายโยอากิม กรัสซี่ และในที่สุดในปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ พระสังฆราชเกียรตินามแห่งเกราซาก็ประกอบพิธีเสกวัดใหม่นี้ขึ้น
อาคารปัจจุบันเป็นที่สร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 ในปี พ.ศ. 2426-2434 รวมระยะเวลาสร้าง 8 ปี เป็นโบสถ์ทรงโรมาเนสก์ (ศิลปะนอร์มัน ช่วงศตวรรษที่ 10-12) และได้รับการขนานนามว่าเป็นโบสถ์ที่เก่าที่สุดและสวยที่สุดในประเทศไทย วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ได้รับการบูรณะโดยทางวัดร่วมกับบริษัท มรดกโลก จำกัด เรื่อยมา จนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550)
ที่มา : www.talontiew.com