โรตีสายไหม เป็นอาหารประเภทขนมหวานชนิดหนึ่งมีส่วนประกอบหลักอยู่สองส่วน คือ แผ่นแป้ง และ ส่วนไส้ที่เป็น น้ำตาลเคี่ยวทำเป็นเส้นฝอยที่เรียกว่า สายไหม เวลารับประทานจะนำแผ่นแป้งมาห่อไส้และม้วน เพื่อรับประทาน
เดิมโรตีสายไหมเข้ามาในประเทศไทยโดยชาวแขก จะห่อสายไหมด้วยแป้งโรตีชนิดหนา ต่อมามีชาวไทยเชื้อสายจีนชื่อนางนภาพร นันทสุขเกษม ซึ่งขณะนั้นอายุ 13 ปี ได้ไปเรียนการทำเส้นสายไหมและกลับมาทำจนสำเร็จ แต่เนื่องจากไม่มีทุนมากพอที่จะเรียนหลักสูตรการทำแป้งโรตี จึงประยุกต์ใช้แป้งบางที่ชาวจีนเรียกว่าแป้ง เปาะเปี๊ยะ ในการห่อเส้นสายไหมแทน จึงเกิดเป็นโรตีสายไหมแป้งบางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โรตีสายไหม ผลิตมากและขึ้นชื่อที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นผลิตโอทอปของ ตำบลคานหาม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยมีการผลิตมี 5 ขั้นตอนคือ “การหม่าแป้ง” “การแต้มแป้ง” “การทำหัวเชื้อ” “การเคี่ยวน้ำตาล” และ “การดึงเส้นสายไหม”
ประวัติและความเป็นมาของโรตีสายไหมอยุธยา
โรตีสายไหม เป็นขนมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเป็นขนมของชาวไทยมุสลิมที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษคือ
นายบังเปีย แสงอรุณ เป็นผู้นำเข้ามาในจังหวัดอยุธยา นายบังเปียเกิดในครอบครัวที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร คือทำนา มีพี่น้อง ๑๐ คน ชื่อจริงคือ นายซาเล็ม แสงอรุณ เกิดวันพุธ เดือน ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ บ้านวงแหวน บางปะอิน คลอง ๑ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยฐานะที่ยากจน เด็กชายซาเล็มจึงตัดสินใจออกจากบ้าน เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ ไปรับจ้างทั่วไปตามต่างจังหวัด จนกระทั่งไปอาศัยอยู่กับอาที่อำเภอ สัตหีบ จังหวัดชลบุรี ช่วยทำขนมหวาน เช่น โรตีกรอบ โรตีใส่นม แล้วนำไปขายที่บริเวณวัดหลวงพ่ออี๋ ในแต่ละวันเมื่อขายขนมเสร็จแล้ว จะต้องกลับไปเคี่ยวน้ำตาลเพื่อนำไปหยอดที่แป้งกรอบ มีบางครั้งเคี่ยวน้ำตาลนานไปน้ำตาลจะแข็ง บังเปียจึงทดลองดึงน้ำตาล ให้ยืดขึ้นเพื่อให้น้ำตาลอ่อนตัว หยอดที่โรตีกรอบได้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำโรตีสายไหมและฝึกหัดดึงน้ำตาลเคี่ยว ให้เป็นเส้นไหมอยู่หลายปี จนมีความชำนาญ
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อายุได้ ๑๗ ปี ได้เดินทางกลับไปที่บ้านวงแหวนฯ แล้วย้ายไปเช่าบ้านอยู่ที่ข้างสุเหร่าวัฒนา อำเภอพระนครศรีอยุธยา ทำโรตีสายไหมใส่กล่องไม้สะพาย ถีบจักรยานคู่ใจเร่ขายไปทั่ว ในสมัยนั้นคนซื้อจะนำเหรียญสลึงมา หย่อนลงในช่องที่เจาะไว้ เข็มที่หน้าปัดซึ่งมีตัวเลขเขียนไว้จะหมุนไป เมื่อเข็มหยุดที่เลขใดก็จะได้จำนวนชิ้นเท่านั้น เป็นที่สนุกสนานของคนซื้อ บังเปียขายอยู่หลายปี กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้แต่งงานกับนางมั่น เป็นชาวโคราช มีบุตรชาย ๓ คน และผู้หญิง ๒ คน จึงคิดที่จะสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นกว่าที่เป็นอยู่ ต่อมาได้ย้ายไปเช่าบ้านไป อยู่ในตัวเมืองอยุธยา ริมถนนอู่ทอง เส้นทางไปโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ช่วยกันทำโรตีสายไหมขายเป็นอาชีพ ของครอบครัว ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ ไม่ยากแค้นเช่นในวัยเด็ก บังเปียไม่หยุดนิ่งในฝีมือ หมั่นปรับปรุงรสชาติ แป้งโรตีอยู่เสมอให้ถูกใจผู้บริโภค เช่น จากสูตรดั้งเดิม ตัวแป้งมีส่วนประกอบ แป้งสาลี น้ำเกลือ ก็เพิ่มรสชาติด้วยการใส่นม กะทิ งา และธัญพืช กิจการขยายตัวขึ้นเป็นที่รู้จักของชาวอยุธยา และจัหวัดใกล้เคียง ขายได้ ๒๐๐ – ๓๐๐ กิโลกรัม ต่อวัน จึงชักชวนพี่น้อง จำนวน ๖ คน ให้มายึดอาชีพทำโรตีสายไหมขาย ทำให้ตระกูลแสงอรุณขยายกิจการกระจายไปทั่วถนนอู่ทอง และขยายวงกว้างไปตามเส้นทางสายเอเชีย ถนนมิตรภาพ ผ่านไปมาจะเห็นร่มกางสีสวยข้างทางพร้อมป้ายปักโรตีสายไหม อยุธยา สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ญาติ ไม่หวงวิชาถ่ายทอดด้วยความเต็มใจ จึงมีลูกศิษย์แยกตัวไปประกอบอาชีพนี้มากมาย ปัจจุบันได้รับเชิญไปสอนการทำโรตีสายไหมให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่นฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัด ตามห้างสรรพสินค้าที่มีการจัดงานต่าง ๆ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุเสด็จไปเปิด งานขนมไทย ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง บังเปีย แสงอรุณ ได้แสดงฝีมือการดึงเส้นสายไหมถวาย พระองค์หญิงทอดพระเนตรการทำอย่างใกล้ชิด พระองค์สนพระทัยอย่างมาก ทรงประทานรางวัลเกียรติคุณแก่ บังเปีย แสงอรุณ ยังความปลาบปลื้มและความภาคภูมิใจในอาชีพนี้ ด้วยวัยย่างเข้า ปีที่ ๖๑ ใบหน้าที่ยิ้มละมัย อารมณ์ดี ไม่ท้อชีวิต มีความสุขทุกครั้งที่เล่าชีวิตหนหลังให้กับทุกคนได้รับรู้ด้วยความภาคภูมิใจที่ก้าวมายืน ณ จุดนี้ได้ด้วยความมานะบากบั่น ของตนเองและให้กำลังใจกับคนที่ท้อแท้ในชีวิตให้ลุกขึ้นสู้ชีวิตต่อไป ในช่วง ๔๐ ปี ที่ผ่านมา ต่อมาได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่มาสักการะพระพุทธรูป และมาเที่ยวชมโบราณสถานบวกกับมีการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานข้าราชการประจำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้มีการนำสินค้าขึ้นทะเบียน OTOP จึงทำให้มีการตั้งขายอยู่กับที่เปิดเป็นร้านถาวร มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น สายไหมจากเดิมมีสีเดียว รสชาติเดียว เปลี่ยนเป็นหลายสี หลายรสชาติ มีทั้งรสส้ม รสใบเตย รสโกโก้ ส่วนแผ่นแป้งก็มีหลากหลายรสชาติเหมือนกัน เช่น รสใบเตยใส่งา
ใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ป่น รสเผือก เป็นต้น
ขอบคุณภาพประกอบทุกภาพ