หากพูดถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อนๆ อาจนึกถึงจังหวัดที่มีวัดวาอารามอยู่มากมายหลายแห่ง เรียกได้ว่าเกือบทุกตารางนิ้วจะเต็มไปด้วยวัดวาอารามเลยทีเดียวค่ะ แต่ทราบหรือไม่คะว่าจะมีวัดที่สำคัญเพียง 10 วัดเท่านั้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวชม 10 วัดสำคัญในพระนครศรีอยุธยากันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วตามมาเลยค่า…
วัดแห่งแรกที่เราจะพาเพื่อนๆ เยี่ยมชมก็คือ… “วัดมหาธาตุ” ค่ะ วัดมหาธาตุนี้ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ สันนิษฐานว่าวัดนี้ถูกสร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) แต่ยังไม่ทันได้แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตก่อน จนถึงรัชกาลของสมเด็จพระราเมศวรจึงทรงสร้างเพิ่มเติมต่อจนเสร็จบริบูรณ์เป็นพระอาราม แล้วขนานนามว่า “วัดมหาธาตุ” แต่ก็ได้ถูกทำลายลงหลังจากสงครามการเสียกรุงครั้งที่ 2 นั่นเองค่ะ ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในวัดของเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และยังเป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา อาทิเช่น เป็นพระอารามหลวง, เป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าใจกลางพระนคร และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ฝ่ายคามวาสี) มาตลอดจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา และที่สำคัญไปกว่านั้นวัดแห่งนี้ยังมีหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างมาเยี่ยมชมให้เห็นกับตาตัวเองสักครั้งในชีวิต นั่นก็คือ “เศียรพระในรากต้นโพธิ์” ค่ะ โดยเศียรพระพุทธรูปหินทรายในรากต้นโพธิ์นี้เกิดจากเจ้าหน้าที่นำเศียรพระนี้มาวางไว้ในช่วงที่ทำการบูรณะซ่อมแซมวัด ปรากฏว่ารากของต้นโพธิ์ได้ขยายมาโอบพระเศียรนี้ไว้จนเสมือนเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้มีความงดงามแปลกตา จึงนับได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ที่แฝงความศักดิ์สิทธิ์ไว้ด้วยค่ะ หลังจากเที่ยวชมเศียรพระในรากต้นโพธิ์ที่เป็นจุดเด่นของวัดนี้แล้ว เพื่อนๆ สามารถเดินชมสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ได้อีกด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่ที่พังทลายลงในปัจจุบัน, เจดีย์แปดเหลี่ยมที่ลดหลั่นกัน 4 ชั้น โดยชั้นบนสุดประดิษฐานปรางค์ขนาดเล็ก ถือได้ว่าเป็นเจดีย์ที่แปลกตาและพบได้เพียงองค์เดียวในอยุธยา, วิหารที่ฐานชุกชีของพระประธานในวิหาร, พระปรางค์ขนาดกลาง ภายในพระปรางค์มีภาพจิตรกรรมเรือนแก้วที่เป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติ และตำหนักพระสังฆราช เป็นตำหนักที่สลักลวดลายปิดทอง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ว่างทางทิศตะวันตก
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
ค่าเข้าชม: ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท
เดินชม “วัดมหาธาตุ” แล้วเดินต่อไปอีกนิดก็มาถึง “วัดราชบูรณะ” ค่ะ วัดราชบูรณะนี้เป็นหนึ่งในวัดของเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ตั้งอยู่ติดกับวัดมหาธาตุทางฝั่งด้านทิศเหนือ ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงกรุงศรีอยุธยาที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ภายในวัดประกอบด้วยองค์พระปรางค์ประธานที่เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกซึ่งนิยมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอมก่อด้วยหินศิลาแลง มีซุ้มพระพุทธรูปปูนปั้นทั้ง 3 ทิศ ได้แก่ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก และบนยอดพระปรางค์ประธานจะประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑและยักษ์ล้อมรอบด้วยระเบียงคด โดยภายในองค์พระปรางค์ประธานนั้นมีกรุสมบัติ 2 ชั้นที่สามารถลงเข้าไปชมได้ค่ะ ซึ่งกรุชั้นบนนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และกรุชั้นล่างแบ่งเป็นห้องเก็บสมบัติของแผ่นดินไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป พระพิมพ์ และเครื่องทองล้ำค่าต่างๆ ส่วนพระวิหารหลวงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธาน และพระอุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกในแนวเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเจดีย์รายและวิหารรายประกอบอีกเป็นจำนวนมาก หลังจากที่พม่าโจมตีเผาทำลาย ที่นี่จึงกลายเป็นวัดร้างยาวนานถึง 200 ปี
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
ค่าเข้าชม: ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท
วัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดอีกแห่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่เดิมนั้นบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แต่ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังไปทางตอนเหนือ และอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดภายในพระราชวังในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แต่จะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทำให้กลายเป็นต้นแบบการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในปัจจุบัน โดยภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์มีเจดีย์สำคัญ 3 องค์ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา ตั้งเรียงรายกันเป็นสัญลักษณ์อย่างสวยงาม ส่วนภายในพระเจดีย์ได้บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ ได้แก่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นอกจากนั้น ภายในวัดก็ยังมีซากปรักหักพังของพระวิหาร หอระฆัง พระอุโบสถ ฯลฯ ที่น่าสนใจ ล้วนแล้วแต่มีความเก่าแก่และงดงาม ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสายค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม: ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท ส่วนเด็ก,นักเรียน, นักศึกษา ไม่เสียค่าเข้าชม
วัดพระรามเป็นอีกหนึ่งวัดที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ติดกับบึงพระรามทางด้าน ถ.ศรีสรรเพชญ์ ฝั่งตรงข้ามกับวัดมงคลบพิตร ซึ่งสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระรามขึ้น ประมาณปี พ.ศ.1912 ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระราชบิดาของพระองค์ ถึงแม้ปัจจุบัน วัดพระรามจะกลายเป็นวัดร้างที่เหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ก็ยังมีพระปรางค์องค์ใหญ่ที่โดดเด่นเป็นสง่าตั้งตระหง่านใกล้กับบึงพระราม บึงน้ำขนาดกว้างใหญ่หน้าวัดพระรามนั่นเองค่ะ ส่วนภายในวัดพระรามนี้มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ได้แก่ “พระปรางค์ประธาน” เป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ ตั้งอยู่ตรงกลางวัดบนฐานสี่เหลี่ยม มียอดพระปรางค์สูงแหลมขึ้นไปด้านบน สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร มีพระปรางค์ขนาดกลางตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนทางทางทิศตะวันตกทำเป็นซุ้มประตูกับบันไดสูงทั้งสองข้างสำหรับเดินขึ้นไปบนพระปรางค์ได้ โดยบางมุมของพระปรางค์ประธานปรากฏร่องรอยลายปูนปั้นรูปครุฑและสัตว์หิมพานต์ ส่วนทางทิศเหนือและทิศใต้ของพระปรางค์ประธานมีปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ และรอบๆ ปรางค์ขนาดเล็กนั้นก็ล้อมรอบด้วยเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน และเมื่อเพื่อนๆ เดินขึ้นบันไดเพื่อเข้าสู่เข้าด้านในของพระปรางค์ เพื่อนๆ ก็จะพบกับภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้นทั้งสองด้านเป็นภาพพระพุทธเจ้านั่งประทับปางมารวิชัยบนบัลลังก์ แต่ปัจจุบันภาพซีดและเลือนรางไปมาก, “บึงพระราม” เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่หน้าวัด มีต้นไม้ปกคลุมอย่างร่มรื่น ตอนเย็นบึงนี้จะหนาแน่นไปด้วยผู้คนในละแวกนั้นหรือนักท่องเที่ยวที่มานั่งพักผ่อนหย่อนใจหรือออกกำลังกาย บางทีอาจจะมีพ่อค้าแม่ค้าเข็นรถเข็นมาขายอาหาร ทำให้บรรยากาศคึกคักมากขึ้น และยังมีวิหาร 7 หลังที่ตั้งอยู่บริเวณต่างๆ ภายในวัดอีกด้วยค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
ค่าเข้าชม: ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท
วัดธรรมิกราชนั้นมีชื่อเดิมว่า “วัดมุขราช” ตั้งอยู่ติดกับพระราชวังโบราณและวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งวัดแห่งนี้เคยเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่พระยาธรรมิกราช พระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยสร้างขึ้นในยุคเดียวกับวัดพนัญเชิงวรวิหาร จุดเด่นที่น่าสนใจของวัดนี้ก็คือ ด้านหน้าพระวิหารหลวงมีเจดีย์องค์ใหญ่ทรงลังกา แต่ปัจจุบันถูกทำลายไปเหลือเพียงครึ่งองค์ และมีประติมากรรมปูนปั้นเป็นสิงห์แบบศิลปะขอมยืนล้อมรอบฐานเจดีย์ 52 ตัว อีกทั้งยังมีบันไดนาคเตี้ยๆ เดินขึ้นสู่องค์เจดีย์ทั้ง 4 ด้าน ส่วนภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปิดทองสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาก็ได้มีการบูรณะวัดในรัชกาลที่ 5 ส่วนพระวิหารหลวงหรือพระวิหารทรงธรรมนั้นมีขนาดเก้าห้อง ผนังของพระวิหารหลวงเจาะช่องขึ้นเพื่อให้แสงลอดเข้ามาและใช้เป็นช่องลมระบายอากาศ ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “พระธรรมิกราช” พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะแบบอู่ทองที่เหลือไว้เฉพาะพระเศียร แต่ปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำเศียรพระนี้ไปเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา พระวิหารหลวงของวัดธรรมิกราชนี้ถือได้ว่าเป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในสมัยอยุธยาเลยทีเดียวค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น.
ค่าเข้าชม: ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท ส่วนเด็ก,นักเรียน, นักศึกษา ไม่เสียค่าเข้าชม
หลังจากเดินชมวัดธรรมิกราชจนทั่วแล้ว ให้เพื่อนๆ เดินมาทางฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังโบราณบริเวณริมคลองสระบัวที่อยู่ทางทิศเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) เพื่อนๆ ก็จะพบกับ “วัดหน้าพระเมรุ” ค่ะ ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง ชนิดสามัญชั้นตรี ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่าในปี พ.ศ. 2047 พระองค์อินทร์ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างขึ้นแล้วพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ต่อมาภายหลังเรียกกันว่า “วัดหน้าพระเมรุ” มีการสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา และถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเคยเป็นวัดที่พม่าใช้เป็นตั้งกองบัญชาการในการรบ จึงเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าเผาทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา ทำให้คงไว้ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สิ่งที่น่าสนใจของวัดหน้าพระเมรุนี้ก็คือ “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” ซึ่งเป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถและเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสำริดขนาดใหญ่ที่มีความงดงามมาก โดยมีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับนั่งปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะปิดทองทั้งองค์ และมี ความคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปก่ออิฐอยู่ภายในเมรุทิศเมรุมุมของระเบียงคดที่วัดไชยวัฒนาราม จึงสันนิษฐานได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้โดยยังคงรักษาแบบเดิมไว้ และ
ได้อัญเชิญพระคันธารราฐ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลา (ศิลาเขียว) แบบประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีจากวัดมหาธาตุมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารสรรเพชญ์
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าเข้าชม
หากเพื่อนๆ ได้ชมละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ละครยอดนิยมในปีนี้อาจได้ยินและคุ้นเคยกับวัดแห่งนี้เป็นอย่างดีค่ะ เนื่องจากเป็นวัดที่แม่หญิงการะเกดมักกล่าวถึงบ่อยครั้ง และทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมไปโดยปริยาย เรามาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาและสิ่งที่น่าสนใจของวัดไชยวัฒนารามกันดีกว่าค่ะ วัดไชยวัฒนารามแห่งนี้ถือเป็นอีกวัดหนึ่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ตั้งอยู่ตำบลบ้านป้อม อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง แต่เดิมนั้นพื้นที่วัดไชยวัฒนารามเคยเป็นที่ประทับที่สุดท้ายของพระราชมารดาของพระเจ้าปราสาททองก่อนสิ้นพระชนม์ในขณะที่พระองค์ยังไม่เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ ต่อมาในปี พ.ศ.2173 ภายหลังจากที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดไชยวัฒนารามนี้ขึ้นบนพื้นที่ที่เป็นพระตำหนักเดิมของพระองค์ เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระราชมารดา แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือกรุงละแวก นอกจากนั้นวัดแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ในการจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ภายหลังรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง และพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาเกือบทุกพระองค์ รวมไปถึงเป็นสถานที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกในสมัยอยุธยาตอนปลายและเจ้าฟ้าสังวาลย์ค่ะ สถาปัตยกรรมของวัดไชยวัฒนารามจะแตกต่างจากวัดอื่นๆ ของอยุธยา นั่นก็คือ มีรูปแบบคล้ายศิลปะขอม โดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัดที่มีพระปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกันบริเวณตรงกลางแล้วแวดล้อมไปด้วยปรางค์บริวารที่จัดวางได้อย่างสมดุล และสวยงาม ส่วนสิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้ก็คือ “พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ” ซึ่งเป็นพระปรางค์ประธานที่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสบริเวณกลางวัด มีลักษณะเป็นปรางค์ทรงจัตุรมุขหรือมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน และมุมฐานทั้ง 4 ด้าน
ก็มีพระปรางค์ประจำทิศทั้งสี่มุม ส่วนยอดพระปรางค์มีลักษณะเป็นรัดประคดซ้อนกัน 7 ชั้น โดยชั้นบนสุดนั้นจะเป็นทรงดอกบัวตูม ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับพระปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้นค่ะ และอีกสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ “ระเบียงคต” คือส่วนที่เชื่อมต่อเมรุ (อาคารทรงยอดแหลมที่อยู่รายรอบพระปรางค์ประธานทั้ง 8 หลัง) ทั้ง 4 ทิศเข้าด้วยกัน ส่วนภายในระเบียงคตนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เก่าแก่มานานกว่าร้อยปีและเคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เสมือนเป็นกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์
แต่ปัจจุบันถูกตัดเศียรไปเกือบหมด เหลือเพียง 2 องค์ที่ยังมีเศียรอยู่ค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม: ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท ส่วนเด็ก,นักเรียน, นักศึกษา ไม่เสียค่าเข้าชม
นอกจากวัดไชยวัฒนารามจะเป็นที่กล่าวถึงในละคร “บุพเพสันนิวาส” อยู่บ่อยๆ แล้ว วัดพุทไธศวรรย์ก็เป็นวัดที่มีความสำคัญไม่แพ้กันค่ะ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่แม่หญิงการะเกดลอดผ่านม่านอาคมของท่านอาจารย์ชีปะขาวเข้ามายังบริเวณวัด ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝึกดาบและอาคมของลูกศิษย์ในสำนักอาจารย์ชีปะขาวค่ะ วันนี้เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและสิ่งที่น่าสนใจของวัดแห่งนี้กันค่ะ วัดพุทไธศวรรย์นี้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญที่ตั้งอยู่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก ในบันทึกประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่าประมาณปี พ.ศ. 1896 ภายหลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงครองราชย์มาได้ 3 ปีนั้น พระองค์ก็ได้ทรงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นในบริเวณพลับพลาที่ประทับเมื่อครั้งที่ทรงอพยพมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะทำการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพื่อใช้เป็นพระราชอนุสรณ์ และเมื่อครั้งที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 วัดพุทไธศวรรย์นี้ไม่ได้ถูกพม่าเผาทำลายลงไปด้วยค่ะ ภายในวัดแห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ได้แก่ “พระมหาธาตุ” พระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างตามแบบศิลปะขอม ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของเขตพุทธาวาสบนฐานไพที มีบันไดขึ้น 2 ทางคือทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก บริเวณข้างพระปรางค์มีมณฑป 2 หลังอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ ภายในพระมณฑปจะมีองค์พระประธาน, “พระวิหารพระพุทไธศวรรย์” เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ สร้างตามแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น มีพุทธลักษณะที่งดงาม, “พระอุโบสถ” ตั้งอยู่บนฐานปูนปั้นรูปบัว มีพระพุทธรูปทั้งสามองค์ที่สร้างแบบศิลปะอยุธยาประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ, “พระระเบียง” มีพระพุทธรูปสีทองงามอร่ามที่สร้างตามแบบศิลปะสุโขทัยตั้งเรียงรายอย่างสวยงาม, “ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” พระตำหนักของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสมัยอยุธยา, พระตำหนักจตุคามรามเทพ, พระราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ทั้ง 5 พระองค์ (คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระเอกาทศรถ, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปูนปั้นสีดำปางมารวิชัยที่สร้างตามแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าเข้าชม
เดินเที่ยวชมวัดมาทั้งหมด 8 วัดแล้วคราวนี้ก็มาถึงวัดที่ 9 กันแล้วค่ะ วัดที่ 9 ที่เราจะพาเพื่อนๆ เที่ยวชมกันนั้นก็คือ “วัดมเหยงคณ์” ค่ะ วัดมเหยงคณ์นี้ตั้งอยู่ที่ตำบลหันตรา อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในประวัติของวัดมเหยงคณ์ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างตั้งแต่เมื่อใด แต่คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอโยธยา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา นอกจากนั้นวัดมเหยงคณ์ยังเคยเป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยา วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นวัดร้างที่คงไว้ซึ่งซากปรักหักพังของโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เหลืออยู่ ส่วนสิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ “พระอุโบสถ” ถือเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยาเลยทีเดียวค่ะ โดยพระอุโบสถนี้มีขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 36 เมตร มีลักษณะดังนี้คือ ผนังพระอุโบสถก่อด้วยอิฐสีแดงเป็นจุดเด่นมาแต่ไกล บริเวณโดยรอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้ว 2 ชั้นและมีใบเสมาทำมาจากหินสีเขียว นอกจากนั้นพระอุโบสถยังประกอบด้วยมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง, ประตูเข้าทางฝั่งด้านทิศตะวันออก 3 ช่อง กับทิศตะวันตก 2 ช่อง, หน้าต่างรูปสี่เหลี่ยม 6 ช่อง ภายในพระอุโบสถมีแท่นฐานชุกชี 2 แท่น และประดิษฐานพระพุทธรูปประธานเป็นหินทรายแต่พังทลายลงมาเป็นท่อนๆ และเมื่อเดินมาถึงด้านหลังพระอุโบสถ เพื่อนๆ ก็จะได้พบกับ “เจดีย์ช้างล้อม” องค์เจดีย์เป็นแบบทรงลังกาตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมคล้ายกับองค์เจดีย์ที่วัดธรรมิกราช มีบันไดทั้ง 4 ด้าน และมีช้างปูนปั้นประดับล้อมรอบองค์พระเจดีย์ ซึ่งคล้ายกับเจดีย์ช้างล้อมที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และนอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น ลานธรรมจักษุหรือโคกต้นโพธิ์ เนินดินรูปสี่เหลี่ยม คาดว่าอาจเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้, วิหารสองหลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและเฉียงใต้ของพุทธาวาส คงเหลือไว้เพียงแค่รากฐานที่เป็นมูลดิน, เจดีย์ทรงลังกาทางทิศตะวันออกของพระวิหาร 2 องค์, เจดีย์ทรงลังกาทางทิศตะวันตกของพระวิหาร, เจดีย์รายทรงลังกาตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสในเขตพุทธาวาส 5 องค์ และนอกเขตพุทธาวาสทางด้านทิศตะวันตกอีก 3 องค์ค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม: เสียค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท
หลังจากที่เที่ยวชมวัดมเหยงคณ์แล้วก็อย่าพลาดที่จะแวะชมวัดกุฎีดาวกันด้วยนะคะ โดยวัดกุฎีดาวนั้นถือได้ว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดมเหยงคณ์ เนื่องจากเป็นวัดโบราณขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับวัดมเหยงคณ์ ก่อนจะมีการตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อีกทั้งตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่าในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระนั้นได้มีการสร้างวัดในเกาะเมืองจนแน่นขนัด และไม่มีพื้นที่สำหรับสร้างวัดแห่งใหม่ พระองค์จึงทรงทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ที่มีอยู่แต่เดิม ขณะที่พระอนุชาของพระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวที่อยู่ใกล้กัน ภายในวัดกุฎีดาวนี้มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ได้แก่…
1. พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 15.4 เมตร และยาว 27.8 เมตร ตั้งอยู่บนฐานแอ่นโค้งอย่างอ่อนช้อยคล้ายกับท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นแบบที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีมุขยื่นออกมาจากตัวอาคารทางด้านหน้าและด้านหลัง ฐานของมุขปรากฏลวดลายเป็นลายฐานสิงห์ เจาะช่องหน้าต่างเป็นซุ้มโค้งแบบโกธิค 8 ช่อง โดยทำเป็นหน้าต่างจริงและหน้าต่างหลอกสลับกัน ปัจจุบันเหลือผนังเพียง 3 ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง ที่ผนังด้านหน้ามีประตูทางเข้า 3 ประตู โดยประตูช่องกลางเป็นประตูของมุข และผนังด้านหลังมี 2 ประตู ด้านข้างมุขมีบันไดทางขึ้นลงทั้ง 2 ทาง ภายในพระอุโบสถมีเสากลมเรียงเป็นแถวตามความยาวของอาคาร ปัจจุบันเป็นซากปรักหักพัง ส่วนหลังคามุงกระเบื้อง แต่ได้หักพังหมดแล้ว เหลือแค่เพียงร่องรอยของช่องรับขื่อคานและคันทวย
2. เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ มีเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณย่อมุมไม้ยี่สิบ ปัจจุบันยอดเจดีย์หักลงมา เหลือเพียงองค์พระเจดีย์บางส่วน ส่วนฐานประทักษิณของเจดีย์ปรากฏลวดลายของขาสิงห์ โดยทำเป็นรอยหยัก 2 หยัก มีบันไดทางขึ้น 2 ทาง และมีเจดีย์รายจำนวน 8 องค์รายล้อมรอบบนฐานประทักษิณ
3. พระวิหาร อยู่ทางด้านหลังของพระเจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 14.1 เมตร ยาว 27 เมตร ตั้งอยู่บนฐานแอ่นโค้งเป็นท้องเรือสำเภา มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างของมุขมีบันไดขึ้นทั้ง 2 ทาง ภายในพระวิหารมีเสากลม 2 แถว เรียงกันแถวละ 7 ต้น ปัจจุบันเหลือ
เพียงโคนเสา ส่วนหัวเสาเป็นบัวกลุ่ม มีการเจาะหน้าต่างบนผนังด้านข้างด้านละ 3 ช่อง
4. ตำหนักกำมะเลียน อาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก มีขนาดกว้าง 14.6 เมตร ยาว 30 เมตร มีการเจาะซุ้มโค้งรูปกลีบบัวที่ผนังชั้นบนและชั้นล่าง ซึ่งในช่วงที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ ขณะที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จมาทอดพระเนตรและควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นครั้งคราว พระองค์ยังเคยทรงงานและประทับแรมที่ตำหนักแห่งนี้ หลังจากนั้นก็ทำการถวายวัดและใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาสหรือศาลาการเปรียญต่อไป
5. กำแพงและซุ้มประตู เป็นกำแพงล้อมรอบเขตพุทธาวาสที่ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นกำแพงก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 102 เมตร ยาว 142 เมตร มีบัวประดับด้านบนของกำแพง มีการย่อมุมไม้สิบสองที่มุมทั้งสี่ของกำแพง และมีซุ้มประตูที่ก่อเป็นซุ้มโค้งด้านละ 2 ซุ้ม
6. เจดีย์ราย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงกระจายตามจุดต่างๆ ทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้ ทิศละ 7 องค์
หลังจากเดินชมวัดสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนครบ 10 วัด เพื่อนๆ ก็คงจะเหนื่อยกันมามากแล้ว และตอนนี้ก็เย็นมากแล้วด้วย พวกเรากลับกรุงเทพฯ กันก่อนดีกว่าค่ะ เดี๋ยวจะกลับบ้านมืดค่ำกันซะก่อน แล้วโอกาสหน้าเราค่อยมาเที่ยวอยุธยากันอีกนะคะ ส่วนจะเป็นที่ไหนนั้น ต้องติดตามกันต่อไปค่ะ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล & ภาพถ่าย