หน้าบันสมัยพระณารายณ์
วัดเตว็ด
..
วัดเตว็ดเป็นวัดร้างตั้งอยู่
ทางทิศใต้นอกตัวเกาะเมืองอยุธยา
บริเวณริมคลองปทาคูจาม
ในเขตพื้นที่ตำบลสำเภาล่ม
ห่างจากวัดพุทไธศวรรย์
ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 500 เมตร
.
หลักฐานทางศิลปกรรมของตำหนัก (กุฏิ?)
วัดเตว็ดในปัจจุบันเหลือตัวอาคารมีเพียงผนังสกัดหน้า เหลืออยู่เพียงด้านเดียว ลักษณะเป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน ยกพื้นมีใต้ถุนสูง เจาะช่องประตูเป็นรูปวงโค้ง ซึ่งนิยมทำในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้ระบบผนังรับน้ำหนักหลังคา
.
หน้าบันก่ออิฐถือปูนแบบ
“กระเท่เซ”(ไม่มีไขราหน้าจั่ว) ประดับลวดลายปูนปั้นอิทธิพลศิลปะยุโรปผสานกับลายก้านขดนกคาบแบบไทยได้อย่างลงตัว แสดงอิทธิพลค่อนไปทางยุโรป
.
กล่าวคือ กรอบหน้าบันเป็นลายแบบยุโรป ที่หางหงส์ปั้นเป็นรูปศีรษะบุรุษหันด้านข้างผูกผ้าพันคอ
ลายประธานใจกลางหน้าบันเป็นรูปปูนปั้นรูปทิพย์วิมานอย่างยุโรป (อาจหมายถึงเรือนที่ประทับ?)
และมีลายก้านขดประดับซ้ายขวา
ใบไม้ที่อยู่ในลายก้านคด
คล้ายใบอะแคนตัสของกรีกโบราณ
.
ซึ่งพอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นอิทธิพลของศิลปะแบบฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และไทยรับอิทธิพลของศิลปะนี้เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เนื่องจากฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน