“วัดวังชัย” พระอารามหลวงในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
วัดวังชัยตั้งอยู่ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้างตั้งอยู่ที่ ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๓๙ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
จากข้อมูลพระราชพงศาวดารพระราชหัตถเลขากล่าวถึงวัดวังชัยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๐๗๓ ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์พ.ศ. ๒๐๗๒) ทรงโปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองและเสริมความมั่นคงโดยรอบพระนครเพื่อป้องกันศัตรูที่จะเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา และสถาปนาพระตำหนักพระราชฐานวังเดิมให้เป็นวัดหลวงประจำรัชสมัยของพระองค์มีฐานะเป็นพระอารามหลวง (พระราชพงศาวดารพระราชหัตถเลขาเล่ม ๑, ๒๕๔๘, น. ๗๐-๗๑) ในคำให้การกรุงเก่าระบุชื่อ “วัดวังชัย” เป็นพระอารามหลวงในกรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ ๒๐ วัดกะไชย (วัดวังไชย) นอกจากนี้มีเอกสารที่กล่าวถึงการสร้างวัดวังชัยในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนความว่า
“… ให้ซ่อมแซมพระนครซึ่งชำรุดปรักหักพังให้มั่นคงโดยรอบคอบแล้ว, สถาปนาที่พระตำหนักวังเป็นพระอุโบสถ, แล้วสร้างพระวิหาร, เป็นพระอารามให้นามชื่อวัดวังชัย, เจ้าอธิการให้ชื่อพระนิกรม. แล้วตรัสว่า, เมื่อเราอุปสมบทนั้น, บิณฑบาดขึ้นไปโทน ป่าถ่านจนถึงป่าชมพู, อากรซึ่งขึ้นสรรพากรหลวงนั้น, ให้เถรเณรไปขอเอาเป็นกับบียจังหันเถิด.” (พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, ๒๕๑๔, น. ๓๕-๓๖)
วัดวังชัยไม่ปรากฏหลักฐานว่าถูกทิ้งร้างไปเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งสิ้นสุดราชธานีกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. ๒๓๑๐ และในพ.ศ. ๒๕๓๐ กรมศิลปากรได้จัดทำแผนแม่บทนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ดำเนินนงานโบราณคดีขุดแต่งและบูรณะรวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง วัดวังชัยเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งในการดำเนินงานครั้งนี้ ได้ดำเนินงานขุดแต่งทางโบราณคดีตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ถึง ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ บูรณะครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๐ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๐
โดยสำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา เพื่อดำรงไว้ซึ่งคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ศิลปกรรม สืบทอดเทคนิควิธีการก่อสร้างดั้งเดิมให้คงอยู่เป็นหลักฐานในการศึกษาเรียนรู้ต่อไป
ปัจจุบันคงเหลือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ดังนี้
๑. เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานแปดเหลี่ยมยังเหลือแต่ส่วนฐานของเดิม มีกำแพงล้อม และมีเจดีย์ทรงกลมฐานแปดเหลี่ยมขนาดเล็กตั้งอยู่ที่มุมทั้ง ๔ ทิศ ยังคงมีชิ้นส่วนปล้องไฉนยอดเจดีย์ขนาดเล็กซึ่งคงจะเป็นส่วนยอดของเจดีย์ทิศตกหล่นอยู่ใกล้ฐานเจดีย์
๒. ฐานอุโบสถ คงเหลือแต่ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนเนินดินทางด้านหน้าของเจดีย์หันหน้าไปทางทิศตะวันออกยังมีซากพระประธานขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูนไม่มีเศียร และมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายกระจัดกระจายอยู่บนเนินหลายชิ้นที่เชิงเนินยังมีใบเสมาเหลืออยู่ลักษณะเป็นใบเสมาเกลี้ยงๆ มีลายสลักเป็นเส้นนูนลากจากฐานขึ้นไปบรรจบกันเป็นรูปสามเหลี่ยมเหนือฐานขึ้นไปเล็กน้อย และจากยอดสามเหลี่ยมลากเส้นตรงผ่ากลางใบเสมาขึ้นไปถึงส่วนบนจึงแยกออกจากกันเป็นเส้นโค้งออกไปทั้งสองข้างตามแนวขอบเสมา (โบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ๒๕๕๑, น. ๓๙๑)
ที่มาข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา. รายงานการศึกษาโบราณสถานวัดวังไชย ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา, ๒๕๓๗.
พระราชพงศาวดารพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. กรุงเทพฯ, นครปฐมการพิมพ์. ๒๕๔๘.
สมเด็จพระพนรัตน์. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. พระนคร, โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา.๒๕๑๔.
กรมศิลปากร. โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม ๑. กรุงเทพฯ, ทวีวัฒน์การพิมพ์. ๒๕๕๑.
เรียบเรียง : นายณัฐพงษ์ ฉิมมา นักวิชาการวัฒนธรรม กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา