วัดพระนอน (ร้าง)
อายุกว่า 600 ปี
..
วัดพระนอน 600 ปี วัดร้างที่เหลือเพียงฐานรากของกำแพงวัด และเสาวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธศรีอยุธยาประชาพิทักษ์ พระนอนอายุ 600 ปีที่กรมศิลปากรร่วมแรงร่วมใจกับพระสงฆ์และประชาชนบูรณะองค์พระขึ้นมาใหม่
..
ประมาณปี พ.ศ. 2555 มีชาวบ้านคนหนึ่งแจ้งกับนักข่าวว่ามีพระนอนโบราณอยู่กลางโคกพระนอน ซึ่งตนเองมักจะไปหลบแดดเวลาออกหาปลาเสมอ บางครั้งตนก็จะถางหญ้าเพื่อไม่ให้ขึ้นคลุมองค์พระ ที่ตนออกมาพูดกับสื่อครั้งนี้เพราะพระนอนมีลักษณะงดงามมาก องค์ใหญ่กว่าพระนอนที่วัดใหญ่ชัยมลคล อยากให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป
ในเวลานั้นพระนอนเหลือเพียงพระพักตร์เสี้ยวเดียว แต่ยังพอมองเห็นว่างดงามมาก พระพาหา (แขน) ทั้งสองพังทลาย เหลือแต่ต้นพระพาหุซ้าย (ต้นแขนซ้าย) บั้นพระองค์ขาด พระบาทพังลงทั้งหมด ที่สำคัญคือกลางพระอุระซึ่งโดยปกติแล้วมักเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปสำคัญขนาดเล็ก เกิดเป็นช่องกลวงโบ๋ แสดงว่ามีผู้นำออกไปก่อนหน้านี้แล้ว
จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรพบว่าวัดพระนอนแห่งนี้มีเนื้อที่ 2 ไร่ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ประมาณปี พ.ศ. 1900-2000 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเนรศวรมหาราชและรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ จากการขุดค้น พบวิหาร เจดีย์ราย กลุ่มอาคาร และกลุ่มหลุมฝังศพ
ส่วนพระนอน มีหลักฐานว่าประดิษฐานอยู่ในวิหาร ทว่าวิหารเกิดหักพังลงไป องค์พระมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นพระปูนปั้น ศิลปะอู่ทองรุ่นที่ 3 อายุประมาณ 600 ปี พุทธลักษณะคล้ายพระนอนวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระนอนจักรศรี จ.สิงห์บุรี และพระนอนวัดขุนอินทรประมูล จ. อ่างทอง