นิยมเรียกโดยย่อว่า พระพุทธนิมิต เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ประดิษฐานอยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ มีพุทธลักษณะงดงาม และเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร นิยมเรียกโดยย่อว่า วัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดพระเมรุ ตั้งอยู่ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ขนาดและลักษณะพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี บ้างเรียกว่า ปางทรมานพระยามหาชมพู หล่อด้วยทองสำริดลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างประมาณ 4.5 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์ บ้างว่าเป็นพระพุทธรูปประจำปีกุนด้วย
ประวัติการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นพร้อมวัดหน้าพระเมรุในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ต่อมาสันนิษฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปูนปั้น ที่ประดิษฐานอยู่ภายในเมรุทิศ เมรุมุมของระเบียงคต วัดไชยวัฒนาราม ที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์
วัดนี้ยังได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ วัดหน้าพระเมรุรอดพ้นจากการถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2
ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุและพระประธานองค์นี้ และพระราชทานนามพระประธานว่า พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ
โดย พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 3 ในขณะนั้นได้ปฏิสังขรณ์โดยรักษาแบบอย่างของเดิมไว้เป็นส่วนมาก รวมถึงคงลักษณะที่วัดนี้ไม่ได้ทำหน้าต่างไว้ มีแต่ช่องลูกกรงช่องเล็ก ๆ ซึ่งเป็นแบบนิยมในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาตอนต้น สมัยนั้นพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งรวมถึงภาพภิกษุณี แต่ผู้ซ่อมแซมในสมัยต่อ ๆ มาได้ฉาบปูนขาวทับไว้เสียหมด