พระคันธารราฐ วัดหน้าพระเมรุ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นพระพุทธรูปประธานอยู่ในพระวิหารน้อย หรือพระวิหารเขียน
ซึ่งอยู่ด้านข้างของพระอุโบสถ (ด้านขวาของพระอุโบสถเมื่อหันหน้าเข้าสู่ด้านหน้าของพระอุโบสถ)
พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว ศิลปะทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า)
เบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง)
มีพนักพิง และเหนือขึ้นไปหลังพระเศียรมีประภามณฑลหรือรัศมี มีสลักลายที่ขอบ คาดว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา แต่จากการบูรณะเมื่อขุดพบและนำมาประดิษฐานที่วัดหน้าพระเมรุ พระหัตถ์ทั้งสองด้านเปลี่ยนเป็นวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.7 เมตร สูง 5.2 เมตร ศิลาเขียวที่สร้างเป็นวัสดุหินปูนที่มีสีเขียวแก่ (Bluish Limestone)
แต่เดิมพระคันธารราฐน่าจะเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ในเกาะเมืองอยุธยามาก่อน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงได้ขุดพบพระคันธารราฐองค์นี้ แล้วได้มีการเคลื่อนย้ายอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารน้อย ที่เพึ่งสร้างขึ้นใหม่ ณ วัดหน้าพระเมรุ จนถึงปัจจุบัน
พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้จารึกไว้ในศิลาติดตั้งไว้ที่ฝาผนังเมื่อปี พ.ศ. 2381 ที่สร้างพระวิหารน้อยว่า
พระคันธารราฐนี้ พระอุบาลีมหาเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นำมาจากประเทศลังกา ในคราวที่ท่านเป็นสมณทูตพร้อมด้วยพระสงฆ์นำพระพุทธศาสนากลับคืนไปประดิษฐานในประเทศลังกา
ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นความเห็นของพระยาไชยวิชิตถึงที่มาของพระคันธารราฐหรือไม่ หรือได้ข้อมูลมาจากแหล่งใด