วัดแม่นางปลื้ม เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดนางปลื้ม หรือ วัดสมปลื้ม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.1920 บริเวณที่ตั้งวัดเคยเป็นที่ตั้งค่ายของพม่า ซึ่งยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ยังมีเนินค่ายปรากฏอยู่ชาวบ้านเรียกว่า โคกพม่า ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม จากรูปแบบเจดีย์ประธานของวัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างสมัยเดียวกับวัดธรรมิกราช และวัดมเหยงค์ กล่าวคือ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมองค์ระฆังคว่ำแบบเจดีย์ทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานสิงห์ล้อมเช่นเดียวกัน และยังประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันพระวิหารด้วย
ภายในวัดมีเจดีย์ทรงระฆังที่สร้างเป็นประธาน สร้างอยู่บนฐานสูง ฐานล่างมีสิงห์ปูนปั้นล้อมรอบลักษณะเป็นฐานบัวประดับด้วยลวดลายบัวลายบัวแบบนี้สืบทอดมาจากศิลปะเขมร-ลพบุรี ความแตกต่างอยู่ที่ฐานบัวที่ค่อนข้างสูงทำให้มีที่ว่างที่ท้องไม้มากและลวดบัวลูกฟักที่ท้องไม้มีขนาดเล็กและมี 2 เส้น ซึ่งเป็นลักษณะที่วิวัฒนาการมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น กำหนดอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ส่วนวิหารมีหลักฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลายปูนปั้นที่หน้าบันด้านหน้าเป็นลวดลายที่ได้อิทธิพลศิลปะจีน นิยมกันอยู่ราวสมัยรัชกาลที่ 3 ที่วิหารหลังนี้ยังมีหน้าบันแกะสลักไม้ฝีมือช่างรัตนโกสินทร์คงอยู่ที่หน้าบันด้านหลัง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ภายในวัดมีหลวงพ่อขาว พระพุทธนิมิตมงคลศรีรัตน์ไตร เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มักมีผู้คนแวะมาสักการะขอพระเสริมสิริมงคลและบนบาน มักจะสัมฤทธิ์ผลทุกราย แต่ละรายมาแก้บนด้วยไข่ต้มและพวงมาลัย เจดีย์ วิหารและองค์หลวงพ่อขาวได้รับการปฏิสังขรณ์ จากรมศิลปากรเมื่อปี 2543 จึงดูโดดเด่น และองค์รูปเหมือนท่านเจ้าคุณสุนทรธรรมโกศล (ท่านเจ้าคุณเกตุ) อดีตเจ้าอาวาส
การเดินทาง : ตำบล คลองสระบัว อำเภอ พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา