วัดเชิงท่า หรือ วัดตีนท่า หรือ วัดติณ หรือ วัดคลัง หรือ วัดโกษาวาสน์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่า สร้างขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ พระเจ้าอู่ทอง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง วัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมือง ริมฝั่งซ้ายของ แม่น้ำลพบุรี ใกล้กับ คูไม้ร้อง ซึ่งเป็นอู่เก็บเรือพระที่นั่ง ในสมัย กรุงศรีอยุธยา ฝั่งตรงข้ามวัด คือ ป้อมท้ายสนม และ ปากคลองท่อ ซึ่งเป็นท่าข้ามเรือของฝั่งเกาะเมือง มาขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำหน้า วัดเชิงท่า
จากตำนานคำบอกเล่า เรื่องราว และประวัติความเป็นมาของ วัดเชิงท่า ได้กล่าวไว้ว่า เศรษฐีผู้หนึ่ง มีบุตรสาวสวยอยู่ ๑ คน ด้วยความมั่งคั่งของฐานะ จึงได้สร้างเรือนไม้อันวิจิตรไว้ให้บุตรสาวออกเรือน (แต่งงาน) คือ ยกให้เป็นเรือนหอนั่นเอง แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง บุตรสาวคนสวยของเศรษฐี ได้ลักลอบหนีออกจากบ้านไปกับผู้ชาย ครั้นบุตรสาวหนีออกจากบ้านไปแล้ว เศรษฐีก็ตกอยู่ในอาการเศร้าโศก ตั้งหน้าเฝ้าคอยหวังว่าสักวันหนึ่งบุตรสาวของตนต้องกลับบ้าน รอแล้วรอเล่ารออยู่หลายปีบุตรสาวก็ไม่กลับมาสักที เศรษฐีจึงยกเรือนหอ (รอเก้อ) ถวายให้กับวัด ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูลของเศรษฐีนั่นเอง จึงได้ชื่อว่า วัดคอยท่า เรื่องที่เล่าสืบกันมานี้ หลวงจักรปาณี ได้นำมาประพันธ์ไว้ใน นิราศทวารวดี
จากตำนานคำบอกเล่า เหตุที่มาของชื่อ วัดตีนท่า สืบเนื่องมาจาก วัดสร้างอยู่ใกล้ ท่าเรือปากคลองท่อ (ด้านเหนือ) ตรงกับ วัดพุทไธศวรรย์ ตามแนว คลองท่อ ทางด้านใต้ของเกาะ หรืออาจจะมาจากที่ตั้งของวัดอยู่นอกเมือง และใกล้กับท่าเรือ ผู้คนสามารถสัญจรข้ามไปมาได้ ชาวบ้านชาวเมืองจึงพากันเรียก วัดตีนท่า
ส่วนเหตุที่มาของชื่อ วัดติณ น่าจะมาจากคำว่า ติณ ซึ่งแปลว่า หญ้า เพราะตั้งแต่รัชสมัย สมเด็จพระเพทราชา ถึงรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ บริเวณที่ตั้งวัดคงจะเป็นที่รวบรวมหญ้า เพื่อนำข้ามฝั่งไปให้ ช้าง ม้า ใน พระบรมราชวัง จึงเป็นที่มาของชื่อ วัดติณ ในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑ กล่าวว่าครั้ง เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ครั้นกลับจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดคอยท่า ใหม่ทั้งอาราม บูรณะวัดเสร็จได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดโกษาวาสน์
ในรัชสมัย สมเด็จพระเพทราชา ลงมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๓๑ – ๒๓๐๑) บริเวณวัดนี้คงจะเป็นที่รวบรวมหญ้า เพื่อนำข้ามฝั่งไปให้ช้างม้าในวัง จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดติณ
ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑ โปรดฯให้บูรณะปฏิสังขรณ์ วัดโกษาวาสน์ อีกครั้ง (สันนิษฐานว่าน่าจะบูรณะ ในขณะ พระภิกษุสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) บวชเป็นพระ จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้) ครั้นทำการบูรณะเสร็จแล้ว โปรดฯให้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดเชิงท่า
วัดเชิงท่า มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช อย่างไร? กล่าวคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ทรงมีความเกี่ยวเนื่องกับวัดแห่งนี้ถึง ๒ ครั้ง และเป็นช่วงสำคัญของชีวิตทั้ง ๒ ครั้ง ของพระองค์เลยทีเดียว
ครั้งที่ ๑ ในปีพุทธศักราช ๒๒๘๔ เด็กชายสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) อายุได้ ๗ ปี เจ้าพระยาจักรี (โรงฆ้อง) ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรม ได้นำ เด็กชายสิน เข้าสำนักการศึกษากับ พระอาจารย์ (มหาเถร) ทองดี ณ วัดโกษาวาสน์
เนื่องจาก เด็กชายสิน เป็นเด็กเฉลียวฉลาด มีความคล่องแคล่ว เรียนรู้การงาน และการเรียนได้รวดเร็วกว่าเด็กทั่วไป จึงช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของวัดได้เป็นอย่างดี และเป็นคนทำอะไรทำจริง มิหนำซ้ำยังมีใจนักเลงกล้าได้กล้าเสีย เด็กชายสิน จึงขึ้นขั้นเป็นหัวโจกลูกศิษย์วัดด้วยกันเลยทีเดียว วันหนึ่ง เด็กชายสิน ได้ชักชวนศิษย์วัด เปิดบ่อนพนันเป็นเจ้ามือเล่นกำถั่วขึ้นในวัด พระเดินมาเห็นเข้า จึงได้นำเรื่องไปฟ้อง พระอาจารย์ทองดี พระอาจารย์ทองดี ไต่สวน สืบความ ได้ความกระจ่างว่า เด็กชายสิน เป็นหัวโจกชักชวนเพื่อนเล่นการพนันจริง ฝ่าฝืนกฎระเบียบของวัด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่เด็กคนอื่น ๆ พระอาจารย์ทองดี จึงได้ทำการลงโทษ เด็กชายสิน สถานหนัก โดยนำตัวไปมัดมือคร่อมอยู่กับบันไดท่าน้ำ ตั้งแต่ตอนบ่ายจนตกค่ำ ส่วน พระอาจารย์ทองดี เมื่อจัดการลงโทษแล้ว ได้เข้าวัดปฏิบัติศาสนกิจตามปกติ เวลาพลบค่ำน้ำขึ้นท่วมบันได และได้ท่วมร่างเด็กชายสิน แต่ด้วยปาฏิหาริย์ เสาบันไดนั้นถอนหลุดลอยน้ำ นำร่าง เด็กชายสิน ไปพร้อมกับบันได เวลาล่วงเลยนานเข้า พระอาจารย์ทองดีเกิดนึกขึ้นมาได้ จึงชวนพระลูกวัดไปดูที่ท่าน้ำ ปรากฏว่าไม่พบ เด็กชายสิน พระอาจารย์ทองดี ตกใจมาก เกรงว่าจะถูก เจ้าพระยาจักรี (โรงฆ้อง) ตำหนิ จึงพากันรีบค้นหา ในที่สุดก็พบ เด็กชายสิน ลอยผูกติดกับบันได อยู่ฝั่งตรงข้ามท่าน้ำ พระอาจารย์ทองดี รีบนำตัวเด็กชายสินให้พ้นจากน้ำทันที และพาเข้าไปในพระอุโบสถ ให้ เด็กชายสิน นั่งลงต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธรูป (พระประธาน) อยู่ท่ามกลางคณะสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์ร่วมสวดพระพุทธมนต์ ชยันโต เป็นการรับขวัญที่ เด็กชายสิน รอดตายราวปาฏิหาริย์ ขณะอยู่ในสำนักของ พระอาจารย์ทองดี เด็กชายสิน ได้เรียนหนังสือขอมไทย เรียนคัมภีร์พระไตรปิฎก จนจบครบขบวนความ
ครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๒๙๘ มหาดเล็ก (สิน) (เข้าถวายตัวเป็น มหาดเล็ก อยู่ในพระบรมราชวังรับใช้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๙๐) อายุครบ ๒๑ ปี ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทต่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้ นายสิน ได้บวชเป็น พระภิกษุสิน และจำพรรษาอยู่ที่ วัดโกษาวาสน์ วัดเดิมที่เคยเป็นศิษย์วัดอยู่กับ พระอาจารย์ทองดี ขณะ พระภิกษุสิน จำพรรษาที่ ๓ นายทองด้วง ซึ่งมีอายุอ่อนกว่า พระภิกษุสิน ๒ ปี (พระราชสมภพปีพุทธศักราช ๒๒๗๙) ได้อุปสมบท และเนื่องจากวัดอยู่ใกล้กัน พระภิกษุทั้ง ๒ รูป จึงมักได้พบกันบ่อยครั้ง เช้าวันหนึ่งขณะ พระภิกษุสิน จาริกรับบาตร ผ่านบ้านเรือนไทยจีน ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกนั้น ครั้นเดินมาถึงมุมโบสถ์พราหมณ์ ถนนชีกุญ ได้พบกับ พระภิกษุทองด้วง ขณะภิกษุสหายทั้ง ๒ รอรับบาตรข้าว ได้มีซินแสชาวจีนผู้หนึ่ง เดินผ่านมาพบพระภิกษุทั้ง ๒ ซินแสผู้นั้นพินิจดู พระภิกษุสิน และ พระภิกษุทองด้วง ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาได้สักครู่ จึงกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อเลยที่ได้เห็นกษัตริย์ไทยสององค์มาเดินบิณฑบาตด้วยกันอย่างนี้ และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้า พระคุณเจ้าทั้งสองจะต้องได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อย่างแน่นอน ขอให้คำทำนายนี้จงเป็นมงคลสืบไปเถิดพระคุณเจ้า ซินแสถวายคำทำนายแล้ว ได้อำลาจากไป ปล่อยให้ พระภิกษุสิน และ พระภิกษุทองด้วง มองตากันด้วยความรู้สึกขบขัน แล้วเดินบิณฑบาตต่อไป โดยไม่ได้ซักอะไรอีก
ปัจจุบันวัดเชิงท่าอยู่ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา และยังเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาตลอดมา สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้กำหนดให้วัดเชิงท่า เป็นแหล่งโบราณสถานของชาติ นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีงานศิลปกรรมไทยสมัยอยุธยาตอนปลายในรูปแบบสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมหลายอย่าง สมควรที่จะใช้เป็นแบบอย่างในการศึกษาอารยธรรมโบราณ จึงได้กำหนดเป็นโบราณสถานที่สำคัญ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการขุดแต่งเพื่อออกแบบบูรณะวัดเชิงท่า เนื่องจากโบราณสถานมีสภาพทรุดโทรม อาคารหลายหลังถูกขุดเจาะทำลายเพื่อหาโบราณวัตถุรวมทั้งการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา
เครดิตข้อมูล : www.weloveayutthaya
เครดิตภาพ :Aey Wallop Kerdtiemphum