วัดเจ้าย่า เป็นวัดร้างตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของคลองสระบัว ซึ่งอยู่นอกเกาะเมือง ห่างจากหน้าวัดพระเมรุไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑ กิโลเมตรเศษ ตามเส้นทางที่จะไปเพนียดคล้องช้าง
คลองสระบัวเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในสมัยโบราณมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเส้นทางลัดระหว่างคลองคูเมืองกับคลองบางขวด ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์มักจะเสด็จไปเพนียดคล้องช้างโดยออกจากพระราชวังตรงคลองท่อ แล้วเลี้ยวเข้าคลองสระบัว ตัดตรงไปออกคลองบางขวดสู่เพนียดคล้องช้าง คลองสระบัวนี้มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๒ เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชเสด็จไปคล้องช้างที่เพนียด ผ่านมาทางคลองสระบัว ขุนพิเรนทรเทพกับพวกได้เข้าสกัดกระบวนเรือพระที่นั่งจับเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ขุนวรวงศาธิราช และราชบุตรที่เกิดด้วยกันฆ่าเสีย ความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า
“ครั้นเช้าตรู่ขุนวรวงศาธิราชกับแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์และราชบุตรที่เกิดด้วยกันนั้น ทั้งพระศรีศิลปก็ลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกันมาตรงคลองสระบัว ขุนอินทรเทพก็ตามประจำมา ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพ พระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก หลวงศรียศ หมื่นราชเสน่หาในราชการ ครั้นเห็นเรือพระที่นั่งขึ้นมาก็พร้อมกันออกสกัด ขุนวรวงศาธิราชร้องไปว่าเรือใครตรงเข้ามา ขุนพิเรนทรเทพก็ร้องตอบไปว่า กูจะมาเอาชีวิตเองทั้งสอง ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพก็เร่งให้พาย รีบกระหนาบเรือพระที่นั่งขึ้นมา แล้วช่วยกันเข้ากลุ้มรุมจับขุนวรวงศาธิราชกับแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์และบุตรซึ่งเกิดด้วยกันนั้นฆ่าเสียแล้วให้เอาศพไปเสียบประจาน ณ วัดแร้ง”[๑]
ปัจจุบันคลองสระบัวตื้นเขินเป็นบางส่วนไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาได้ การเดินทางไปวัดเจ้าย่าจึงใช้ทางรถยนต์ ซึ่งมีหลายเส้นทางดังนี้
ถนนที่ตัดผ่านวัดเจ้าย่านี้ได้ตัดผ่านกลางวัดทำให้วัดในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒ ฝั่ง ฝั่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเป็นเขตพุทธาวาส และฝั่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งติดกับคลองสระบัว เป็นเขตสังฆาวาส ก่อนการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ บริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนราษฎรและเป็นพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรทั้ง ๒ ฝั่ง จนกระทั่งกรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและปรับปรุงสภาพแวดล้อมโบราณสถานกลุ่มคลองสระบัว บ้านเรือนราษฎรจึงได้ย้ายออกไป
สภาพวัดเจ้าย่าก่อนการขุดแต่งนั้นอยู่ในสภาพหักพังมาก ทั้งนี้เกิดจากการเสื่อมสภาพของวัตถุและการลักลอบขุดรื้อทำลาย บริเวณฝั่งตะวันออก ประกอบด้วยซากโบราณสถาน ได้แก่ วิหาร เจดีย์ อาคารขนาดเล็ก เจดีย์ราย และศาลาราย บริเวณดังกล่าวล้อมรอบด้วยกำแพงรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า สันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นเขตพุทธาวาส และมีคูน้ำล้อมรอบ ส่วนฝั่งตะวันตก มีซากโบราณสถานเป็นอาคาร ๒ ชั้น ก่ออิฐสอปูน หอระฆัง อาคารขนาดเล็ก ขอบทางเดินและแนวกำแพงวัด
ประวัติการสร้างวัดเจ้าย่ามีความเป็นมาอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานเนื่องด้วยไม่มีเอกสารฉบับใดกล่าวถึง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะทางศิลปกรรมของซากโบราณสถานที่เหลืออยู่และจากการขุดแต่งออกแบบเพื่อการบูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ พอจะสันนิษฐานได้ว่า วัดนี้น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และคงจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายแล้วถูกทิ้งร้างไประยะหนึ่ง สันนิษฐานว่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ จนมีการเข้ามาใช้พื้นที่โบราณสถานอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นและถูกทิ้งร้างไปอีกครั้งหนึ่ง จะร้างด้วยเหตุผลใด ก็ไม่อาจทราบได้
นายเทพ สุขรัตนี นักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้เรียบเรียงบทความเรื่อง “วัดเจ้าย่า” และวัดแร้ง” พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕ เล่มที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๕ อธิบายว่า
“ได้ทราบจากผู้ใหญ่เล่าว่า วัดนี้เพิ่งตกเป็นวัดร้างมาเมื่อราว ๖๐ ปี สมภารองค์สุดท้าย ชื่อ พระภิกษุสุด หลักฐานต่างๆ ทางเอกสารแสดงถึงความเป็นมาของวัดนี้ยังค้นไม่พบ แม้ชื่อวัดซึ่งเรียกกันว่า “วัดเจ้าย่า” ก็ยากที่จะสันนิษฐานได้ว่าเหตุผลใดจึงมีชื่อเช่นนั้น”
จากบทความดังกล่าวถ้าจะนับวันเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๗) วัดเจ้าย่าก็คงถูกทิ้งร้างมาประมาณกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว
ราษฎรในบริเวณนั้นเล่าว่า แต่เดิมบริเวณนี้มีสภาพเป็นป่ารกรุงรังด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยและวัชพืชนานาชนิด เมื่อทำการถากถาง เพื่อจะปลูกสร้างบ้านและทำที่เพาะปลูกจึงพบซากโบราณสถานต่างๆ และในที่สุดกรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจและประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๘๖[๒] แต่ยังไม่ได้ทำการบูรณะขุดแต่ง เพียงทำความสะอาดและถากถางบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น จากซากโบราณสถานดังกล่าวพบว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี เนื่องจากพบอาคารซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่สำหรับวิปัสสนา ประกอบกับวัดบริเวณนอกเกาะเมืองแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีทั้งสิ้น
ในปี ๒๕๔๒ กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่ง ขุดค้นและออกแบบเพื่อการบูรณะโบราณสถานกลุ่มคลองสระบัว ซึ่งมีวัดเจ้าย่ารวมอยู่ด้วย จึงพบว่าวัดเจ้าย่านี้มีการก่อสร้างและบูรณะเพิ่มเติมถึง ๕ สมัยด้วยกัน เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งพบว่ามีการสร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นเจดีย์ประธานของวัด ต่อมามีการสร้างและบูรณะเพิ่มเติมอีกหลายครั้งและมีการสร้างทับซ้อนกันอีกด้วย ดังปรากฏรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณสถาน เช่น เจดีย์ทรงต่างๆ วิหารที่มีระเบียงโปร่ง เตี้ยขยายออกมา และหอระฆัง เป็นต้น[๓]
โบราณสถานที่สำคัญ
กรมศิลปากรได้สำรวจและจัดทำแผนผังวัดเจ้าย่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ พบว่า โบราณสถานที่ปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันออกของถนนในปัจจุบันนั้น ล้อมรอบด้วยกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ ๘๓.๑๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๘ เมตร มีทางเข้าสู่ด้านตะวันออก ๑ ช่อง ด้านตะวันตก ๒ ช่อง ชานด้านตะวันออกย่อมุมตามแผนผัง (ดูแผนผัง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐) ต่อมากำแพงดังกล่าวได้ทลายลงเหลือแต่แนวอิฐเป็นร่องรอยของแนวกำแพงเดิมโดยรอบเท่านั้น เมื่อกรมศิลปากรได้ขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ในปี ๒๕๔๒ ปรากฏว่าพบแนวกำแพงทั้งหมด ๔ ด้าน เป็นกำแพงก่ออิฐสอดิน มุมกำแพงประกอบด้วยเสาหัวเม็ดมุมกำแพง ฐานหน้ากระดานชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ลักษณะแนวกำแพงแต่ละด้าน มีดังนี้
แนวกำแพงประกอบด้วยเสาหัวเม็ดที่ปลายแนวกำแพงทั้ง ๒ มุม ที่มุมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้พบขอบอิฐลักษณะคล้ายศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนหรือสำหรับบูชาพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายใน มีช่องประตูทางเข้า ๑ ช่อง
แนวในสภาพคดไปมาและเลื่อนลงไปในคูน้ำ ความสูงวัดได้จากส่วนที่เหลือสภาพสูงสุดวัดได้ ๑.๒๔ เมตร พบเสาหัวเม็ด ๒ ต้น เว้นระยะกันประมาณ ๖๕ เซนติเมตร เป็นช่องประตูทางเข้า มีขั้นบันได สันนิษฐานว่าอาจเป็นช่องทางเข้าออกของพระสงฆ์จากเขตสังฆาวาสสู่เขตพุทธาวาส ซึ่งคูน้ำบริเวณใกล้กับช่องประตูเล็กนี้อาจมีสะพานไม้ข้ามไปยังกุฎิวิปัสสนา ๒ หลัง ทางทิศเหนือของวัด
– ด้านทิศใต้ ยาว ๘๓ เมตร สภาพกำแพงคดไปมา ด้านนี้ไม่พบช่องประตู
– ด้านทิศตะวันตก ยาวประมาณ ๘ เมตร สภาพชำรุดมาก เนื่องจากถูกถนนตัดผ่าน
แนวกำแพงในฝั่งตะวันออก สันนิษฐานว่าคงสร้างราวสมัยอยุธยาตอนกลางค่อนมาทางตอนปลาย เนื่องจากมีการสร้างโบราณสถานเพิ่มมากขึ้นและเพื่อกำหนดขอบเขตของวัดให้ชัดเจน ส่วนแนวกำแพงฝั่งตะวันตก จะเหลือเพียงฐาน และบางส่วนถูกรื้อทำลายเนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎร
ภายในกำแพงวัดฝั่งตะวันออกประกอบด้วยโบราณสถานดังต่อไปนี้
๑. วิหาร นายเทพ สุขรัตนี นักโบราณคดี กรมศิลปากรได้กล่าวถึงวิหารของวัดนี้ไว้ในบทความเรื่อง “วัดเจ้าย่าและวัดแร้ง” ว่า
“พระวิหารตั้งอยู่บนฐานล้อมด้วยกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว ๒๓.๔๐ เมตร กว้าง ๑๓.๕๐ เมตร ตัวพระวิหารยาว ๑๘.๓๐ เมตร กว้าง ๙.๙๐ เมตร ภายในวิหารมีแท่นชุกชี ไม่พบส่วนของพระพุทธรูป มีทางขึ้นทางทิศตะวันออกและตะวันตกด้านละ ๒ ช่อง” [๔] (ดูแผนผังปี พ.ศ. ๒๕๐๐)
จากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานวัดเจ้าย่าในพุทธศักราช ๒๕๔๒ นั้นพบว่า วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานวิหารสูงจากพื้นประมาณ ๔๐ – ๕๐ เซนติเมตร มีเสาระเบียงด้านทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ ๙ ต้น ลักษณะเป็นระเบียงโปร่งใช้อิฐก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีบันไดขึ้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง ภายในมีระเบียงเดินได้รอบ พื้นภายในวิหารปูด้วยอิฐกลมผ่ากากบาท มีฐานชุกชี ฐานพระอันดับ พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย ปูนปั้น และสำริด และชิ้นส่วนพระพุทธรูปดินเผา เศษกระเบื้องดินขอ กระเบื้องเกล็ดปลา และกระเบื้องกาบกล้วย แสดงถึงอายุสมัยของโบราณสถานแห่งนี้ว่ามีการขยายและเปลี่ยนแปลงรูปทรงของอาคารหลายครั้ง
๒. เจดีย์ประธาน อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐสอดินและฉาบปูนด้านนอกทั้งองค์ ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม สูงจากระดับพื้นประมาณ ๖๐ – ๗๐ เซนติเมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงกลมลด ๒ ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวที่พังทลายเกือบหมด ถัดไปเป็นมาลัยลูกแก้ว จากนั้นเป็นองค์ระฆังที่เหลืออยู่เพียงด้านทิศตะวันตกเล็กน้อย บริเวณองค์ระฆังกรุด้วยศิลาแลง จากการขุดแต่งบูรณะพบว่าเจดีย์แห่งนี้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถึง ๓ ครั้ง และเมื่อมีการสร้างเจดีย์ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานทำให้ฐานของเจดีย์ชิดกับฐานหน้ากระดานของเจดีย์ประธาน จึงทำให้เจดีย์ทั้ง ๔ องค์อยู่บนฐานเดียวกัน
๓. เจดีย์ทางทิศเหนือของเจดีย์ประธาน มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยม คาดลูกแก้วอกไก่รองรับฐานเขียงกลม ฐานบัวกลมและองค์ระฆังทรงกลม สภาพชำรุดมากเหลือบางส่วนของมาลัยลูกแก้ว องค์ระฆัง ส่วนปล้องไฉนได้หักตกลงมาอยู่ข้างล่าง จากการขุดแต่งพบว่าเจดีย์องค์นี้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถึง ๓ ครั้ง ซึ่งแผนผังในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ระบุไว้ด้วยว่ามีเจดีย์ ๒ องค์ ขนาบข้างเจดีย์ประธาน ได้แก่องค์ทางทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งองค์ทางทิศใต้นี้มาปรากฏสภาพเมื่อขุดแต่งแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๔๒
๔. เจดีย์ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ที่ไม่ปรากฏสภาพก่อนขุดแต่ง เนื่องจากเศษอิฐปูนหักพังจากเจดีย์ประธานมาทับถมอยู่ เมื่อขุดแต่งแล้วมีเพียงฐานเขียงกลม ส่วนที่เหลือไม่ปรากฏลักษณะทางสถาปัตยกรรม
๕. เจดีย์ทางทิศใต้เยื้องกับเจดีย์ประธาน มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศเหนือ บริเวณพื้นล่างของบันไดมีอิฐปูพื้นอยู่เป็นลานถึงฐานไพทีของเจดีย์ประธาน ถัดขึ้นมาเป็นราวระเบียงทึบมีเสาหัวเม็ดประดับที่มุมเสา องค์เจดีย์ตั้งอยู่ตรงกลาง ประกอบด้วยฐานเขียง ถัดไปเป็นชุดฐานสิงห์ เหนือขึ้นไปหักพังทั้งหมด พบชิ้นส่วนบัวกลุ่มหลายชิ้น จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ทรงเครื่อง ปัจจุบันมีสภาพชำรุดมาก
๖. เจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ อยู่ทางด้านตะวันตกของเจดีย์ประธาน เจดีย์นี้ตั้งอยู่บนฐานเหลี่ยมเป็นชั้น ลักษณะเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานรับองค์ระฆังทำเป็นฐานสิงห์ มีลายปูนปั้นรูปเท้าสิงห์และลายบัว แท่นฐานยาวด้านละ ๓ เมตร สภาพปัจจุบันชำรุดมาก ลวดลายปูนปั้นหลุดล่วงเกือบหมด ยอดเจดีย์หักหายไป
๗. เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ถัดลงมาทางใต้ของเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ เป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร มีฐานประทักษิณโดยรอบ ฐานรองรับองค์ระฆังทำเป็นฐานสิงห์ องค์ระฆังเรียวชะลูดมาก ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดมาก องค์ระฆังถูกเจาะเว้า ส่วนยอดเจดีย์หักหายไป
๘. อาคารขนาดเล็ก หรือวิหารน้อย อยู่ทางทิศเหนือของเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ ๓.๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๓ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมแอ่นท้องสำเภา มีช่องหน้าต่างด้านทิศเหนือและทิศใต้ตรงกันด้านละ ๑ ช่อง ประตูทางเข้าทางทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่สำหรับภาวนา – วิปัสสนา กำหนดอายุสมัยราวอยุธยาตอนปลายลงมา ประมาณหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างวิหารน้อยกับเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ จะมีพระปรางค์น้อยตั้งชิดแนวกำแพงแก้วของวิหารน้อย ลักษณะเป็นปรางค์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร ฐานกว้าง ๑.๕ เมตร มีช่องบรรจุสิ่งของเล็กๆ ทางด้านทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าอาจสร้างเพื่อบรรจุกระดูกหรือสิ่งของมีค่า
๙. กลุ่มเจดีย์ ๓ องค์ เป็นเจดีย์รายตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวิหาร องค์ทางทิศเหนือเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ซึ่งชำรุดมากเหลือเพียงฐานและบางส่วนขององค์เจดีย์ ยอดหักพังทลายลงมาหมด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยหลัง และมีการก่อเพิ่มเติมอีกด้วย
องค์ทางทิศใต้จะคงสภาพให้เห็นส่วนฐาน องค์ระฆัง บัลลังก์ และยอดเจดีย์บ้างเล็กน้อยได้ทำไม้ค้ำยันไว้ ส่วนองค์กลางชำรุดมาก ซึ่งภายหลังการขุดแต่งพบว่าเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เนื่องจากถูกขุดรื้อทำลายมาก และยังพบว่าองค์เจดีย์ก่อทับซากโบราณสถานขนาดเล็ก ลักษณะเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมฉาบปูน ถัดขึ้นมาเป็นฐานย่อมุมไม้สิบสอง สันนิษฐานว่าเป็นแท่นกราบพระหรือเป็นที่ประดิษฐานพระ
๑๐. เจดีย์ราย ๔ องค์ เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ระหว่างด้านหน้าเจดีย์ประธานและด้านหลังของวิหาร ปัจจุบันเหลือเพียงฐานราก
– องค์ทางทิศเหนือ เป็นฐานสี่เหลี่ยมฉาบปูนภายในเป็นโครงสร้างอิฐก่อเป็นรูปกากบาท ขนาดกว้าง ๓ x ๓ เมตร
– องค์ถัดมา เป็นฐานแปดเหลี่ยมซึ่งตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ประธานของวัดสมัยแรกสร้าง ต่อมามีการสร้างเจดีย์ทรงระฆังเป็นเจดีย์ประธาน จึงลดฐานะเป็นเจดีย์รายเช่นเดียวกับเจดีย์รายองค์อื่นที่สร้างเรียงกัน
– องค์ต่อมา เหลือเพียงฐานเขียงสี่เหลี่ยมฉาบปูน ภายในเป็นโครงสร้างอิฐก่อเป็นรูปกากบาท ขนาดกว้าง ๓ x ๓ เมตร
– องค์ทางทิศใต้ เหลือเพียงฐานสี่เหลี่ยมฉาบปูน ภายในเป็นโครงสร้างอิฐก่อเป็นรูปกากบาท ฐานกว้างประมาณ ๓.๕ x ๓.๕ เมตร และถูกฐานเจดีย์ทรงเครื่อง (เจดีย์ทางทิศใต้เยื้องกับเจดีย์ประธาน) ซึ่งอยู่ใกล้กันก่อทับอยู่ครึ่งหนึ่ง และส่วนบนถูกรื้อออกเพื่อสร้างฐานเจดีย์ทรงเครื่อง และอาจนำอิฐของเจดีย์องค์นี้ไปก่ออาคารอื่นแทน
นอกจากนี้ยังมีศาลาราย ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดแนวกำแพงอีก ๓ หลัง เหลือเพียงฐานอาคารสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศาลาเพื่อประกอบกิจกรรมหรือนั่งพักผ่อนภายในวัด
ส่วนบริเวณฝั่งตะวันตกของถนน มีซากโบราณสถาน ได้แก่
๑. อาคารหรือตำหนัก เป็นอาคาร ๒ ชั้น ก่ออิฐสอปูน ชั้นล่างเป็นส่วนใต้ถุนยกพื้นสูงมีทางเข้าสู่อาคารภายใน ๒ ทางคือตรงกลางของด้านข้างตัวตำหนักทั้ง ๒ ข้างๆ ละ ๑ ช่อง ซึ่งช่องประตูอยู่ตรงกัน ลักษณะก่อเป็นช่องโค้งรูปกลีบบัว มีเสารองรับพื้น ทางขึ้นบนตำหนักมี ๒ ทาง คือทางด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ส่วนประตูทางเข้าในอาคารชั้นบนมี ๓ ทางทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หน้าต่างด้านละ ๖ ช่อง ช่องที่ ๔ นับจากทิศตะวันออกจะเป็นรูปโค้งแบบช่องกุด นอกนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเดินสู่ตำหนักเป็นทางเดินอิฐเชื่อมมาจากด้านริมคลอง และหอระฆังโดยขึ้นทางชานด้านหลัง
อาคารดังกล่าวมีลักษณะฐานแอ่นท้องสำเภาตามแบบที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงมา สันนิษฐานว่าน่าจะมีการบูรณะเพิ่มเติมต่อมาด้วย
๒. หอระฆัง ตั้งอยู่ริมคลองสระบัว (หลังตำหนัก) เป็นหอระฆังยอดปรางค์ โดยทำเป็นปรางค์ ๕ ยอด ยอดปรางค์ประดับด้วยปูนปั้นกลีบขนุนและประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเขียนสี มีฐานประทักษิณโดยรอบ และมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากลักษณะของปรางค์เล็กเรียว และลักษณะของหอระฆังยังมีรูปทรงเหมือนกับหอระฆังที่วัดใหม่ ตรงบริเวณปากคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา และวัดใหม่นี้ยังมีบานประตูไม้ศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๓ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานว่าในสมัยรัตนโกสินทร์วัดเจ้าย่ายังเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อาศัยและจำพรรษาอยู่
๓. อาคารจำนวน ๕ แห่ง อยู่ในสภาพชำรุดมาก เหลือเพียงฐานกระจายอยู่ในบริเวณเขตสังฆาวาส ตั้งอยู่บริเวณระหว่างตำหนักกับหอระฆัง ๑ แห่งมีขนาด ๘ x ๖ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นศาลาโถง ตั้งชิดแนวกำแพงวัดด้านทิศตะวันตก ๑ แห่งมีขนาด ๒ x ๔ เมตร และทางทิศเหนือของตำหนักอีก ๓ แห่ง มีขนาด ๑ x๑.๕ เมตร ๔ x ๒ เมตร และ ๓ x ๒ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นศาลานั่งพักผ่อน
นอกจากนี้ภายในวัดฝั่งนี้ยังมีทางเดินเชื่อมถึงกัน เพราะพบแนวอิฐก่อเป็นแนวยาวเชื่อมระหว่างตำหนักกับกำแพงวัดด้านทิศตะวันตก (ริมคลองสระบัว) และด้านทิศเหนือ
นอกจากโบราณสถานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีซากโบราณสถานอีก ๑ แห่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของถนนห่างจากบริเวณเขตพุทธาวาสขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๐ เมตร เป็นอาคารก่ออิฐสอปูนทรงกลม ๒ หลัง ยกพื้น มีช่องระบายอากาศด้านล่าง อาคารแต่ละหลังมีประตูทางเข้า ๑ ทาง หันหน้าเข้าหากัน สันนิษฐานว่าคงจะมีทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารทำด้วยไม้ เนื่องจากพบช่องสำหรับวางตัวไม้ที่ประตูของอาคารทั้งสอง หน้าต่างมีลักษณะเป็นช่องโค้งปลายแหลม อายุสมัยที่สร้างน่าจะไม่เก่าไปกว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สันนิษฐานว่าอาคาร ๒ หลังดังกล่าวน่าจะเป็นอาคารสำหรับนั่งวิปัสสนา เนื่องจากพื้นที่ภายในค่อนข้างคับแคบไม่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์อื่น
หลักฐานเกี่ยวกับอาคารขนาดเล็กสำหรับวิปัสสนานี้มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นในประเทศลังกา ได้แก่ ที่วัดเมืองอนุราธปุระ เช่น กลุ่มวัดทางทิศตะวันตก (Western Monasteries) ของเมืองที่นักวิชาการเชื่อว่าคือกลุ่มวัดตะโปวน (Tapovana) ในพงศาวดารมหาวงศ์ ซึ่งหมายถึงป่าที่เป็นที่บำเพ็ญตบะ และวัดบนภูเขามหินตะเล ที่รัฐติลละและมาเนกัณฑะ นอกเมืองอนุราชปุระ เป็นต้น ในวัดดังกล่าวมีอาคารสี่เหลี่ยมตั้งอยู่คู่กัน และมีสะพานทอดเชื่อมถึงกัน วัดเหล่านี้เป็นวัดที่เชื่อกันว่าเป็นฝ่ายอรัญวาสีสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนาเป็นกิจกรรมสำคัญ อาคารคู่ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หรือกษิณ เช่น กณิณไฟ เป็นต้นนี้ พงศาวดารมหาวงศ์เรียกว่า “ปธานฆร” (Padhnaghara) แปลว่า “สถานที่ที่ทำความเพียรทางจิต” [๕] จากข้อมูลดังกล่าวมาแล้วอาจช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่าโบราณสถานของวัดเจ้าย่า ๒ หลังน่าจะสร้างโดยวัตถุประสงค์เดียวกัน
จะเห็นได้ว่าวัดเจ้าย่าในปัจจุบันได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามสภาพกาลเวลา และดินฟ้าอากาศ ทำให้สภาพของวัดในปัจจุบันมีความแตกต่างจากครั้งที่กรมศิลปากรได้สำรวจ และจัดทำผังในปี ๒๕๐๐ และมีผู้เขียนบทความไว้ในปี ๒๕๐๕ สิ่งก่อสร้างบางอย่างจึงไม่ปรากฏในผัง และเมื่อมีการขุดแต่งและบูรณะแล้ว จึงพบซากโบราณสถานเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง
ในครั้งที่วัดเจ้าย่ายังไม่ได้รับการบูรณะและขุดแต่งและตั้งอยู่ในพื้นที่ทำกินของราษฎรนั้น การดูแลรักษาโบราณสถานเป็นหน้าที่ของราษฎร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณดังกล่าว ช่วยทำความสะอาดในฐานะที่อยู่อาศัย และมีส่วนช่วยดูแลเรื่องการลักลอบขุดทำลายโบราณสถานเพื่อค้นหาทรัพย์สมบัติ นอกเหนือไปจากกรมศิลปากรซึ่งดูแลรักษาโบราณสถานด้วยการทำความสะอาด ถากถางและกำจัดวัชพืชปีละครั้งเป็นการชลอการทำลายจากสภาพธรรมชาติได้ทางหนึ่ง แต่เมื่อราษฎรได้ย้ายบ้านเรือนออกไปแล้ว จึงเป็นภารกิจโดยตรงของกรมศิลปากรในการดูแลรักษาโบราณสถานของชาติแห่งนี้ต่อไป
* นางเบญจมาส แพทอง ค้นคว้าเรียบเรียง
[๑] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (พระนคร : คลังวิทยา) หน้า ๒๙ -๓๐.
[๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๓๙ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๖
[๓] รายงานการขุดแต่งและปรับปรุงสภาพแวดล้อมโบราณสถานวัดพระงาม วัดเจ้าย่า วัดแค (งานงวดที่ ๒) ของสำนักโบราณคดี หน้า ๑๘ (เอกสารของสำนักโบราณคดี)
[๔] เทพ สุขรัตนี “วัดเจ้าย่าและวัดแร้ง”. พระราชวังและวัดโบราณในพระนครศรีอยุธยา. หน้า ๑๔๒
[๕] จากการศึกษาข้อมูลของ นางสาวนันทนา ชุติวงศ์ ซึ่งค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับอาคารวิปัสสนาในประเทศลังกา