วัดนักบุญยอแซฟ
ตั้งที่ทางตอนใต้นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2209 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยา คือ บาทหลวงลังแบร์ต เดอ ลามอต กับนักบวชอีก 2 ท่าน ต่อมาคณะบาทหลวงได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพื่อทูลขอที่สร้างโบสถ์และโรงเรียน เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาและให้การศึกษาแก่เด็ก เมื่อได้รับพระราชทานที่ดินแล้ว ได้สร้างโบสถ์และโรงเรียนขึ้นเป็นอาคารไม้ เรียกว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ”
ที่ดินของวัดนี้ได้รับพระราชทานจากพระนารายณ์ ตลอดทั้งยังทรงให้จัดหาวัสดุในการก่อสร้างทั้งไม้และอิฐอีกด้วยเพื่อจะได้สร้างโบสถ์ขนาดใหญ่มีความยาว 120 ฟุต (ราว 36.5 เมตร) และมีหอคอยด้านหน้า 2 หลัง
นอกจากนี้ยังมี โรงเรียนบ้านเณร ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนด้านศาสนาให้แก่ชาวเอเชียในอยุธยา และได้กลายเป็นโรงเรียนที่สำคัญที่สุด เพราะการสอนศาสนาในประเทษอื่นๆ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ต่างถูกขัดขวางอย่างรุนแรง กล่าวได้ว่าวัดแห่งนี้นอกจากจะมีบาทหลวงระดับสูงถึง 12 องค์มาแล้ว ยังมีบทหลวงหนุ่มๆ จากหลายชาติอีก 40 องค์ ที่มาจาก จีน ญี่ปุ่น ตังเกี๋ย โคชินจีน มอญ และสยาม
ปัญหาทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนกษัตริย์และราชวงศ์เป็นพระเพทราชาแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง เมื่อ พ.ศ. 2231 วัดนักบุญเซนต์ยอแซฟ บาทหลวง นักเรียนชาวคาทอลิก และชาวฝรั่งเศสทั้งพ่อค้าและทหารต่างก็ได้รับผลกระทบด้วย อันเนื่องจากความพยายามที่จะเปลี่ยนศาสนาขององค์กษัตริย์ และความสัมพันธ์กับฟอลคอน ทั้งนี้วัดและโบสถ์ถูกทำลาย ชาวฝรั่งเศสถูกจับกุมคุมขังและกองทหารฝรั่งเศสถูกขับออกจากป้อมบางกอกและออกจากสยาม
นับจากเหตุการณ์นี้ ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการของสยามกับฝรั่งเศสก็ยุติลง เหลือเพียงความพยายามเผยแพร่คริสต์ศาสนาของเหล่าบาทหลวงเยซูอิตที่ยังดำเนินต่อไป อีก 3 ปีต่อมาพระเพทราชาทรงให้บาทหลวงฝรั่งเศสรื้อฟื้นวัดโบสถ์และโรงเรียนบ้านเณรขึ้นมาใหม่พร้อมทั้งพระราชทานเงินให้ 500 เหรียญฝรั่งเศสด้วย โรงเรียนบ้านเณรยังคงเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางศาสนาของนักเรียนจากชาติต่างๆ เหมือนเดิม
อีกราว 40 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2274 ปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ เกิดความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างขุนนาง-พระสงฆ์ของศาสนาพุทธกับบาทหลวงแห่งบ้านฝรั่งเศส พระเจ้าท้ายสระจึงทรงให้ทำศิลาจารึกว่าด้วยข้อห้าม 4 ประการ ต่อพระสังฆราชและบาทหลวง ไปวางไว้ที่หน้าประตูโบสถ์เซนต์ยอแซฟ
ข้อห้าม 4 ประการได้แก่ ห้ามมิให้สั่งสอนเทศนาแก่คนสยาม คนมอญ และคนลาว ทั้งห้ามมิให้ชักชวนคนเหล่านี้เปลี่ยนศาสนาเป็นชาวคริสเตียน ทั้งห้ามมิให้สังฆราชแต่งหนังสือสอนศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษามอญ ภาษาลาว ภาษาญวน และภาษาจีน และห้ามกล่าวติเตียนศาสนาพุทธ
อีก 36 ปีต่อมา ศิลาจารึกข้อห้ามของคณะเยซูอิตนี้ได้ถูกบาทหลวง ทำลายไปในขณะที่กองทัพพม่ากำลังโจมตีกรุงศรีอยุธยา บ้านฝรั่งเศสได้กลายเป็น “ค่ายนักบุญยอแซฟ” ที่ชาวคริสเตียนได้อพยพมาอยู่และเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ แต่ในที่สุดค่ายนักบุญยอแซฟก็ถูกพม่าเผาทำลายเป็นเถ้าถ่าน ก่อนหน้าที่กรุงศรีอยุธยาจะพังทลายราว 15 วัน พระสังฆราช บาทหลวง ชาวคาทอลิกที่พม่าจับได้ถูกนำกลับไปเป็นทาสที่พม่า
บ้านฝรั่งเศสหรือบ้านนักบุญยอแซฟ ซึ่งเป็นที่ฝั่งศพของผู้แทนพระสันตะปาปา 11 องค์ และฝังศพนักบุญจำนวนมาก ได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้งในอีก 60 ปีต่อมา โดยพระสังฆราชปาเลอกัวจากฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โบสถ์ได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม ปัจจุบันวัดนักบุญเซนต์ยอแซฟมีโรงเรียน ประถมสมัยใหม่ที่ดีของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย