ช่วงใกล้งานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลกและงานกาชาดประจำปี 2565 ในวันที่ 20-29 มกราคม 2566 ใครที่แวะมาช่วงก่อนหรือช่วงงาน อย่าลืมแวะไปที่วัดตูม วัดศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันนี้ตั้งอยู่บริเวณริมคลองวัดตูม ถนนอยุธยา–อ่างทอง ห่างจากตัวเมืองอยุธยา ประมาณ 6-7 กิโลเมตร ในท้องที่ตำบลวัดตูม มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่เศษ มีอายุหลายร้อยปี สิ่งที่กับเศียรพระพุทธรูปเปิดได้ จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของอารามหลวงชั้นตรีที่มีประวัติยาวนานก่อนราชธานีอยุธยา สันนิษฐานเพียงว่าเป็นวัดสำคัญที่ใช้เป็นที่ลงเครื่องพิชัยสงคราม และกลายเป็นวัดเกาะนอกเมืองที่ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งกรุงแตกครั้งที่สอง ใน พ.ศ. 2310 ประชาชนและพระสงฆ์องค์เจ้าต้องหลบลี้หนีหายกันไปหมดสิ้น
ต่อมาวัดตูมกลายเป็นวัดสำคัญอีกครั้งเมื่อสมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีผู้ปฏิสังขรณ์วัดตูมขึ้นมาใหม่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินที่วัดนี้หลายครั้ง สิ่งหนึ่งที่ใครมาวัดนี้แล้วต้องไม่พลาดได้มาชมเป็นบุญตาคือ หลวงพ่อสุข พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่องปางมารวิชัย นามเดิมว่าหลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในหอพระพุทธรูปข้างหอสวดมนต์ด้านตะวันออก ไม่มีตำนานปรากฏว่าสร้างแต่สมัยใด หากเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์งดงามองค์หนึ่ง โดยทรงเครื่องแบบมหาจักรพรรดิ์ราชาธิวาส สวมมงกุฎมีกุณฑล ทับทรวงสังวาล พาหุรัดประดับด้วยเนาวรัตน์ ประทับนั่งขัดสมาธิแม้ในคราวกรุงแตกก็กลับรอดพ้นเพลิงผลาญและการทำลายจากข้าศึกมาได้ จึงเป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง ผู้สูงอายุบางคนยังเล่าว่าเคยเห็นองค์พระพุทธรูปประดับด้วยเพชร พลอย ทับทิมตามพระอุระและพาหาพระอังสะทั้งสองข้างประดับด้วยอินทรธนู ซึ่งไม่พบเห็นในปัจจุบัน ความงดงามของหลวงพ่อสุขยังไม่เท่าความอัศจรรย์ที่ไม่เหมือนพระพุทธรูปใด ๆ ในประเทศไทย กล่าวคือ พระเศียรตอนเหนือพระนลาฏเปิดออกได้ และพระเกศมาลาก็ถอดออกได้เช่นกันแม้เมื่อปิดไว้ก็กลับแนบสนิทไร้ร่องรอย ที่สำคัญคือภายในพระเศียรเป็นบ่อกว้างลึกลงจนเกือบถึงพระศอจะมีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลา เป็นน้ำใสเย็นบริสุทธิ์ดื่มกินได้ จึงมีผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศมาขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อสุขมากมาย โดยจะเปิดเศียรพระทุกวันที่ 1 ของเดือน ภายในวัดตูมยังมีสระน้ำข้างพระอุโบสถด้านตะวันตก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสระในการทำพิธีลงเครื่องพิชัยสงคราม เช่น ชุบพระแสงตลอดมา อาทิ เมื่อ พ.ศ. 2451 รัชกาลที่เสด็จยังวัดตูมเป็นหนสุดท้าย เพื่อทรงประกอบพิธีชุบพระแสงขรรค์ราชศัตรา มีราษฎรไปรอเฝ้าชมพระบารมีกันเต็มท้องน้ำ โดยพิธีการชุบพระแสงต้องนำผงฝุ่นที่จะนำมาทำเป็นเลขยันต์มาสวดพระพุทธมนต์ 7 วัน 7คืน แล้วจึงนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในพระเศียรของหลวงพ่อทองสุขมาละลายผงฝุ่นนั้น นำมาเขียนเป็นอักขระลงที่พระแสงดาบ ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำเข้าเตาเผา แล้วชุบในสระจะปรากฎเป็นอักขระตัวนูนอย่างน่าอัศจรรย์ ก่อนจะล้างน้ำจากพระเศียรหลวงพ่อสุขอีกครั้งเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ ที่นี่เปิดให้นมัสการทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.