แห่เทียนเข้าพรรษา เป็นงานประเพณีที่ใหญ่มากของชาวพุทธศาสนิกชน งานประเพณีนี้จะจัดกันอย่างกว้างขวางในทุกๆ พื้นที่ของประเทศ สืบทอดกันมายาวนานจนไม่สามารถบอกได้แล้วว่างานแห่เทียนเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่หรือที่ไหนในประเทศไทยของเรา ก่อนวันเข้าพรรษาชาวพุทธจะนำเทียนไปถวายที่วัด มีตั้งแต่เทียนขนาดเล็กๆ ส่วนตัว ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ต้องใช้รถมาแห่ไป เป็นเทียนของชุมชน ของอำเภอ จัดงานกันอย่างยิ่งใหญ่เป็นประเพณีประจำจังหวัดของหลายๆ จังหวัด แต่ละจังหวัดก็มีจุดเด่นความสวยงามต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ สำหรับเมืองกรุงเก่าอยุธยา การแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนที่ไหน จะว่ามีที่เดียวในโลกก็ว่าได้ คืองานประเพณีแห่เทียนทางน้ำ จัดโดยการนำเทียนพรรษาแห่ไปบนเรือเป็นขบวนที่ลาดชะโด มีเสน่ห์ไม่เหมือนใครจริงๆ
ก่อนจะถึงวันแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ชาวบ้านจะช่วยกันหล่อเทียนพรรษา แกะสลักประดับประดาเรือแห่ให้สวยงามด้วยดอกไม้และวัสดุต่างๆ ที่พอจะหากันได้ ในเรือแห่เทียนแต่ละลำจะมีนางฟ้าธิดาเทียนนั่งมาในเรือ แห่อย่างเป็นระเบียบตามลำดับไปตามลำคลองบางคี่ บริเวณตลาด 100 ปี ลาดชะโด ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วแห่กลับมายังตลาดลาดชะโด
ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในตอนเย็นจะมีการละเล่นและการแสดงต่างๆ ให้ดูกันอีกด้วย ได้แก่ ชกมวยทะเล การแสดงแสง สี เสียง ฯลฯ