นอกจากโรตีสายไหมแล้ว มีดอรัญญิกก็เป็นอีกหนึ่งของดีประจำจังหวัดอยุธยาเช่นกัน หากคุณกำลังมองหาร้านขายของฝากเพื่อคุณผู้ชายที่บ้านอยู่ล่ะก็ เลือกซื้อของฝากเจ้านี้รับรองหนุ่ม ๆ ปลื้มแน่นอน นอกจากเท่ แล้วยังสามารถใช้งานได้จริงในครัวอีกด้วย
มีดอรัญญิก ได้รับการสืบทอดจากช่างตีเหล็กเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเพื่อใช้ในการสู้รบกับข้าศึก แต่ปัจจุบันได้มีการออกแบบเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยยังใช้กรรมวิธีแบบโบราณ
เเหล่งผลิตมีดเลื่องชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากฝีมือชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาวแห่งบ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนอง ซึ่งเข้ามาอยู่เมืองไทยมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าถูกกวาดต้อนมาในสมัยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกคราวยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์หรือจะอพยพมาเอง แต่มีหลักฐานว่านายเทาเป็นผู้นำ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนนราบริรักษ์ชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้มีฝีมือทางช่าง ได้แก่ ช่างทองกับช่างเหล็ก แต่เมื่อ พ.ศ. 2365 ได้เลิกอาชีพช่างทอง คงเหลือแต่การตีมีดอย่างเดียว ประกอบกับภูมิประเทศบริเวณนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีดงไม้ไผ่หนาเเน่น มีหนองน้ำและแม่น้ำป่าสักไหลผ่านจึงสะดวกต่อการเดินทางและนำไม้ไผ่มาใช้เป็นองค์ประกอบในการทำมีด คือ นำมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาเหล็ก เพราะถ่านไม้ไผ่ให้ความร้อนสูงกว่าไม้ชนิดอื่น และนำลำต้นไปทำด้ามพะเนิน ด้ามค้อน เเละด้ามมีด
สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อราว พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เสด็จมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มาขอให้ชาวเวียงจันทน์กลับประเทศเเต่ชาวบ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ขออยู่ใต้ร่มโพธิสมภาร สร้างชื่อเสียงจากวิชาตีมีดในเมืองไทยต่อไป สาเหตุที่ได้ชื่อว่ามีดอรัญญิก เป็นเพราะสมัยโบราณมีตลาดที่บ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากหมู่บ้านต้นโพธิ์เเละหมู่บ้านไผ่หนองประมาณ 3 กิโลเมตร ชาวบ้านนำเอามีดไปขายที่ตลาดแห่งนี้ คนที่ซื้อไปก็บอกต่อ ๆ กันว่ามีดอรัญญิกมีคุณภาพดี เพราะทั้งแข็งแรงทนทาน บางชนิดใช้ได้นานตลอดชั่วอายุคน และยังสวยงามประณีต มีดอรัญญิกมีด้วยกัน 4 ตระกูล ได้แก่ มีดตระกูลเกษตรกรรม มีดตระกูลคหกรรม มีดตระกูลอาวุธ และมีดตระกูลอื่น ๆ ชุมชนทั้งสองนี้มีงานประเพณีสำคัญคือ การไหว้ครูหรือไหว้ครูบูชาเตากำหนดวันข้างขึ้นเดือนหกที่ตรงกับวันพฤหัสบดี ทุกบ้านจะซ่อมเเซมทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ และนำไปวางไว้ในที่อันสมควร เตาเผาเหล็กจะต้องปั้นกันใหม่และนำเครื่องบูชาเเละอาหารคาวหวานถวายแด่พระภูมิ เเม่ธรณีส่วนเครื่องสังเวยต่าง ๆ จะนำมาวางไว้ที่เครื่องมือเเล้วทำพิธีสวดโองการเชิญเทพเจ้า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาอยู่คู่กับการทำมีดอรัญญิก นักท่องเที่ยวสามารถเข้าพักโฮมสเตย์ ชมการทำมีดและลงมือตีมีดด้วยตนเอง โดยไม่พลาดซื้อมีดอรัญญิก หนึ่งในของดีขึ้นชื่อเมืองอยุธยากลับไปพิสูจน์คุณภาพกันด้วย
แผนที่การเดินทางไปหมู่บ้านหัตถกรรมมีอรัญญิก http://www.tourismthailand.org/fileadmin/upload_img/Multimedia/Ebrochure/485/หมู่บ้านหัตถกรรมมีดอรัญญิก.pdf