จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองกรุงเก่าที่ถูกพบว่าเคยมีอดีตที่รุ่งเรือง ยิ่งใหญ่เกรียงไกรอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานรวมระยะเวลากว่า 417 ปี มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ความเชื่อ ประเพณีต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายให้เราชนรุ่นหลังได้ค้นคว้าศึกษาเรียนรู้กัน
โบราณสถานเก่าแก่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนักคือ “วัดแม่นางปลื้ม” ที่ตำบลคลองสระบัว เดิมเรียกว่าวัดท่าโขลง เพราะเป็นจุดที่โขลงช้างผ่าน ก่อนเข้าเพนียด
หลักฐานทางโบราณคดีและสื่อเรียนรู้ในวัดเล่าประวัติความเป็นมาของวัดว่า สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.1920 สมัยขุนหลวงพะงั่ว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา หากว่าข้อมูลนี้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง นับจนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2563) วัดแม่นางปลื้มก็มีอายุถึง 643 ปีแล้ว แต่ทว่าสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้างภายในวัดยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก แตกต่างจากวัดที่ร่วมสมัยเดียวกันอีกหลาย ๆ วัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามในคราวกรุงศรีฯแตกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310) จนแทบจะเรียกได้ว่ามีเหลือเพียงแต่ซากปรักหักพัง ยากแก่การบูรณะให้สมบูรณ์ดังเดิม
เรื่องนี้มีคำตอบอยู่ในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่ง ความว่า “ลุศักราช 1129 (พ.ศ.2310) ปีกุน นพศก ถึง ณ วันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 วันเนาว์สงกรานต์ วันกลาง พม่าจุดเพลิงเผาฟืนเชื้อใต้รากกำแพงตรงหัวรอ ริมป้อมมหาไชย และพม่าค่ายวัดการ้อง วัดนางปลื้ม และค่ายอื่นๆทุกค่ายจุดปืนใหญ่ ป้อมปืนและหอรบ ยิงระดมเข้ามาในกรุงพร้อมกัน ตั้งแต่เพลาบ่าย 3 โมงเศษจนพลบค่ำ”
ซึ่งสรุปได้ว่า วัดแม่นางปลื้มเป็นหนึ่งในที่ตั้งค่ายของพม่าในการจุดปืนใหญ่ระดมยิงเข้าไปในกรุงศรีฯ ดังนั้นพื้นที่บริเวณวัดจึงไม่ได้รับความเสียหายจากสงครามมากนัก “วัดแม่นางปลื้ม” เป็นวัดเก่าแก่ มีสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างแบบไทยโบราณที่สมบูรณ์ งดงามทรงคุณค่า ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ มาตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2538