วัดพุทไธศวรรย์ วัดพระอารามหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 9 วัดอันเป็นที่ระลึกการสร้างเมืองของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ชมพระปรางค์ประธานที่ประดิษฐานเดิมของเทวรูปพระเจ้าอู่ทองแห่งหอพระเทพบิดร วัดพระแก้ว และพระพุทธไธศวรรย์ พระนอนที่มีลักษณะไม่เหมือนที่ใดในอยุธยา
ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทรงเคยเสด็จมาตั้งพลับพลาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองถึง 3 ปี จึงเคลื่อนพลไปหนองโสน (บึงพระรามในปัจจุบัน) พระราชพงศาวดารจารึกว่าบริเวณนี้เรียกว่า ‘เวียงเล็ก’ หรือ ‘เวียงเหล็ก’ หลังจากที่ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1893 แล้วจึงสร้างวัดพุทไธศวรรย์ขึ้นในปี พ.ศ. 1896 บริเวณที่พระองค์ท่านเคยตั้งพลับพลา เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์การตั้งกรุงศรีอยุธยา
วัดพุทไธศวรรย์เป็นหนึ่งในวัดอารามหลวง หลังจากสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง วัดได้ถูกก่อสร้างเพิ่มเติมตลอดมา ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาล้อมพระนคร ก็ตั้งทัพที่วัดพุทไธศวรรย์ เพราะฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาคือเกาะเมือง วัดจึงมีชัยภูมิที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าเสือ พระราชบุตรในพระเจ้าเสือก็ทำพิธีโสกันต์และบวชเป็นสามเณร กระทั่งบวชเป็นภิกษุที่วัดพุทไธศวรรย์
วัดพุทไธศวรรย์มีความสำคัญมาก ถึงขนาดที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้นำราชทูตสิงหล (สังขัณฑนคร หรือที่ไทยเรียกว่าลังกา) ไปกราบพระปรางค์ที่วัดพุทไธศวรรย์
เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดพุทไธศวรรย์ไม่ได้ถูกเผาทำลายจึงมีสภาพสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จมาทอดกฐินโดยพระยุหยาตราชลมารคอีกด้วย
กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดพุทไธศวรรย์เป็นโบราณสถานในเดือนมีนาคม 2578 และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารารมหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 เนื่องในวโรกาสพัชราภิเษกสมโภช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (ครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี)