วัดพระราม เป็นวัดโบราณศิลปะอยุธยาตอนต้นที่หาชมได้ยากยิ่ง งดงามด้วยปรางค์ประธานทรงฝักข้าวโพดที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะละโว้ และปรางค์บริวารที่มีภาพจิตกรรมฝาผนัง กับวิหารทั้ง 7 ที่ไม่เคยปรากฏที่ใดมาก่อน มาพร้อมกับกิจกรรมขี่ช้างชมสวนสาธารณะบึงพระราม
สมเด็จพระราเมศวรโปรดฯ ให้สร้างวัดพระรามขึ้นในปี พ.ศ. 1912 บริเวณถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าอู่ทอง พระราชบิดาในสมเด็จพระราเมศวร และสร้างแล้วเสร็จในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ระหว่างปี พ.ศ. 1991-2031 หน้าวัดเป็นบึงขนาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเป็นหนองน้ำ ชื่อ ‘หนองโสน’ ส่วนในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่าบึงญี่ขัน ภาษาปากเรียกบึงชีขัน ส่วนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบึงพระรามเมื่อไหร่นั้นยังไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่นักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อกันว่าที่เปลี่ยนชื่อเพราะชาวบ้านเรียกตามวัดพระรามนั่นเอง
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าแต่เดิมหนองโสนมีขนาดไม่ใหญ่ แต่เพราะทางการขุดดินริมหนองขึ้นมาถมที่ดินเพื่อสร้างวัดพระราม ขนาดของหนองโสนจึงใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นบึง ทว่าหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่าบริเวณที่สร้างวัดพระรามเป็นที่ดอนเกิดจากตะกอนแม่น้ำทับถมจนสูงไม่มีเหตุผลต้องถมที่อีก จึงเป็นไปได้ว่าหนองโสนถูกขุดขยายขึ้นเป็นบึงตามหลักการจัดสมดุลธาตุในคัมภีร์พระเวทย์ เนื่องจากพระปรางค์ตามคติความเชื่อฮินดูเป็นธาตุดินต้องมีธาตุน้ำหล่อเลี้ยง ปราสาทในไทย เช่น ปราสาทเมืองต่ำ จ. บุรีรัมย์ ก็ขุดสระน้ำลักษณะนี้
วัดพระรามและบึงพระรามปัจจุบันได้รับการปรับภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะบึงพระราม เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ใกล้บึงประกอบไปด้วยปราสาทและวัดหลายแห่งด้วยกัน เช่น วัดมหาธาตุ วัดสังข์ปัต และปราสาทสังข์
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
▌ปรางค์ประธาน
ปรางค์ประธานทรงฝักข้าวโพด รอบปรางค์มีการสลักภาพนูนต่ำรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ จึงเป็นไปไดว่าวัดพระรามได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมขอมมากจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) โดยเปรียบปรางค์ประธานเป็นเขาพระสุเมรุ สำหรับนภศูลประดับยอดปรางค์ประธาน กรมศิลปากรได้ย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจันทรเกษม
▌ปรางค์บริวาร
ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมของปรางค์ประธาน เรียงตัวในแนวตะวันออกไปตะวันตก ภายในปรางค์มีจิตกรรมฝาผนังเป็นภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น
▌วิหาร
สิ่งที่แตกต่างจากวัดอื่นอย่างชัดเจน คือ วิหาร โดยปกติแล้ววัดอื่นๆ ในช่วยอยุธยาตอนกลาง – ปลาย มักมีวิหารเดียวอยู่นอกระเบียงคด ทว่าวัดพระรามมีวิหารทั้งหมด 7 วิหาร ได้แก่
วิหารใหญ่ อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ เชื่อมต่อกับระเบียงคด นำไปสุ่ตัวพระปรางค์
วิหารน้อย ทิศใต้ ด้านหลังของวิหารเชื่อมต่อกับเจดีย์ใหญ่
วิหารขนาดกลาง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หลังวิหารมีเจดีย์ขนาดใหญ่อยู่
วิหารน้อยทิศตะวันตกเฉียงใต้ ใกล้เจดีย์เล็ก
วิหารเล็กหน้าพระอุโบสถ วิหารอื่นๆ มีประตูหันไปทางทิศตะวันออก แต่วิหารเล็กหน้าโบสถ์มีประตูทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
วิหารตะวันออก หลังวิหารมีเจดีย์
วิหารทางทิศตะวันตกของปรางค์ประธาน ขนาดเล็กกว่าวิหารตะวันออก เชื่อมต่อระเบียงคดขององค์ปรางค์ประธาน
มีความเป็นไปได้มากว่าวิหารทั้ง 7 เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชาอัฐิที่เก็บไว้ในสถูปเจดีย์หลังวิหาร
▌ขี่ช้างชมทิวทัศน์บึงพระราม
บึงพระรามเป็นบึงเก่าแก่ที่ขุดเพิ่มเติมจากหนองโสน ปัจจุบันนอกจากจะถูกปรับภูมิทัศน์ให้ร่มรื่นสวยงามแล้ว ยังมีกิจกรรมขี่ช้างเที่ยวสวนสาธารณะบึงพระรามด้วย โดยเริ่มจากศาลหลักเมือง ไปวัดเกษ คุ้มขุนแผน และจบที่จุดชมวิวบึงพระราม ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ชาวไทย 200 บาท ชาวต่างชาติ 400 บาท หากอยากเที่ยวนานอีกหน่อย อาจเลือกโปรแกรมเดิมเพิ่มเติมคือไปคุ้มขุนแผน ผ่านวัดพระราม ไปต่อที่วิหารมงคลบพิตรและอนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง กลับมาจบที่บึงพระรามด้านอยุธยามหาปราสาท ใช้เวลา 25-30 นาที สนนราคาคนไทย 300 บาท ต่างชาติ 500 บาท
ค่าใช้จ่าย
ค่าเข้าชม: คนไทย 10 บาท ต่างชาติ 30 บาท
เวลาทำการ
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน 08.30–16.30 น. มีการส่องไฟเวลา 19.30-21.00 น.
วิธีการเดินทาง
จากเทศบาลเมืองอยุธยามุ่งหน้าขึ้นเหนือโค้งขวาไปตามทาง เลี้ยวขวาเข้าซอยต้นโพธิ์ เลี้ยวขวาเขาถนนเทศบาลเมืองอโยธยา ที่วงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มใช้ทางออกที่ 3 เข้าถนนอยุธยา-อ่างทอง ข้ามแม่น้ำป่าสัก ตรงมาตามถนนเส้น 309 เลี้ยวขวาเข้าถนนคลองมะขามเรียง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนป่าโทน เลี้ยวขวาข้ามบึงพระราม วัดพระรามจะอยู่ทางซ้าย ระยะทาง 5.8 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 11 นาที