พิพิธภัณฑ์สถานภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย ในวังหน้าที่ประทับเดิมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดดเด่นด้วยหอสังเกตการณ์ข้าศึกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงใช้เป็นหอดูดาว พร้อมด้วยพลับพลาจตุรมุขที่ประทับชั่วคราวและสถานที่ออกว่าราชการในรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเสด็จประพาสอยุธยา
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจันทรเกษมแต่เดิมเป็นพระบวรวังหน้า ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ไว้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเนรศวรมหาราชเมื่อพระองค์ท่านเสด็จจากพิษณุโลกกลับมาอยุธยา นอกจากนี้ที่นี่ยังเคยเป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีอีกด้วย หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 วังหน้าได้ถูกทิ้งร้างไปจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดให้บูรณะและสร้างพลับพลาจัตุรมุขขึ้นเพื่อเป็นที่ออกว่าราชการและที่ประทับ เมื่อพระองค์ท่านเสด็จประพาสอยุธยา โดยในปี พ.ศ 2436 ในหลวงรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานชื่อวังหน้าเสียใหม่ว่า “พระราชวังจันทรเกษม”
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ทำการข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า และโปรดให้ใช้พระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นศาลาว่าการ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาในตอนนั้น ท่านชอบศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุ จึงนำโบราณวัตถุมากมายทั้งที่อยู่ในอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงมาเก็บไว้ในตึกโรงม้าของพระราชวังจันทรเกษมเป็นจำนวนมาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์จัดตั้งที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชื่อว่า “โบราณพิพิธภัณฑ์” นับเป็นพิพิธภัณฑ์ภูมิภาคสถานแห่งแรกของประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2447 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ย้ายโบราณวัตถุจากโรงม้ามาจัดแสดงที่พลับพลาจตุรมุข และพระราชทานนามใหม่ว่า “อยุธยาพิพิธภัณฑ์” ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2509 กรมศิลปากรได้ประกาศให้พระราชวังจันทรเกษมเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
▌พลับพลาจตุรมุข
ด้านหน้าของพลับพลาจตุรมุข คงรูปแบบของท้องพระโรงสมัยรัชกาลที่ 4 เอาไว้ มีพระราชอาสน์ (ที่นั่งคล้ายบัลลังก์แต่เตี้ยกว่า) สำหรับทรงออกว่าราชการ พร้อม “นพปฎลมหาเศวตฉัตร” หรือที่รู้จักกันในนาม “พระมหาเศวตฉัตร” เป็นฉัตรสีขาว 9 ชั้นมีระบายคลิปทอง พระมหาเศวตรฉัตรนับเป็นสิ่งที่งดงามหาดูได้ยาก หากใครไปถึงพลับพลาจตุรมุข ก็ควรจะต้องไปดูให้เห็นกับตาสักครั้งหนึ่ง ส่วนด้านหลังของพลับพลายังคงรูปแบบของที่ประทับส่วนพระองค์เอาไว้เหมือนเดิม โดยมีพระราชบรรจถรณ์ (เตียง) และเครื่องใช้ส่วนพระองค์จัดแสดงอยู่
▌พระที่นั่งพิมานรัตยา
พระที่นั่งแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่มาแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชานทางด้านทิศตะวันตกมีอาคารสองหลังเรียกว่า ปรัศว์ซ้ายและปรัศว์ขวา หลังจากที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้ใช้พระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นศาลาว่าการแล้วทรงโปรดให้ใช้อาคารด้านซ้ายเป็นศาลเมืองและด้านขวาเป็นโรงเก็บพัสดุ ในปัจจุบันอาคารทั้งสองหลังใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่เก็บรวบรวมโดยพระยาโบราณราชธานินทร์
▌พระที่นั่งพิศัยศัลลักษณ์
แต่เดิมสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้างหอสูงไว้ทางทิศตะวันตกของพระราชวังจันทรเกษม เพื่อดูข้าศึกที่บุกมาตามแม่น้ำป่าสัก เนื่องจากบริเวณนี้อยู่ตรงข้ามกับเกาะเมืองอยุธยาพอดี ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้สร้างหอสูง 4 ชั้นขึ้นบนฐานเดิม สำหรับเป็นหอดูดาว และพระราชทานชื่อว่าพระที่นั่งพิศัยศัลลักษณ์ มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “หอส่องกล้อง” กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะพระที่นั่งพิศัยศัลลักษณ์ 2 ครั้งใหญ่ๆ ด้วยกัน ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2479 และครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2511 ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ที่ทรงใช้ในการดูดาว
ค่าใช้จ่าย
ค่าเข้าชม: คนไทย 30 บาท ต่างชาติ 100 บาท
เวลาทำการ
เวลาเปิด-ปิด: พุทธ –อาทิตย์ 09.00-16.00 น.
วันปิดทำการ: หยุดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
วิธีการเดินทาง
จากเทศบาลเมืองอยุธยา ขับตรงมาตามถนนเทศบาลอโยธยา เข้าเจดีย์วงเวียนวัดสามปลื้มใช้ทางออกที่ 3 สู่ถนนอยุธยา-อ่างทาง/ โรจนะ วิ่งตรงมาตามถนน 309 ข้ามแม่น้ำป่าสัก เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอู่ทอง ขับเลียบแม่น้ำป่าสักผ่านหน้าสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ พิพิธภัณฑ์จะอยู่ทางซ้ายมือ ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร ใช้เวลา 13 นาที เนื่องจากพิพิธภัณฑ์จันทรเกษมอยู่ตรงข้ามเกาะเมืองโดยมีแม่น้ำกั้น ดังนั้นหากคุณไม่มีรถแล้วเช่าเรือเที่ยวเกาะเมืองคุณสามารถมาขึ้นท่าที่พิพิธภัณฑ์ได้ หรือหาคุณเช่ารถเที่ยวอยู่ในเกาะเมืองก็สามารถนั่งเรือข้ามฟากมาได้เช่นกัน