ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น มีวัดอยู่มากมายให้เราได้เลือกเดินทางไปกราบสักการะบูชาท ซึ่งแต่ละวัดล้วนมีความหมาย ความสำคัญในเรื่องต่างๆ ทั้งวัดที่สร้างมายาวนาน และวัดที่พึ่งบูรณะใหม่ เชิญชวนทุกท่านเดินทางไปร่วมบุญกันได้ตามศรัทธาของแต่ละท่านได้เลยค่ะ
พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปะอย่างมากของประเทศ แม้จะเกิดความเสียหายอย่างหนักระหว่างสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่ก็มีการบูรณะเรื่อยมา ก่อนปี พ.ศ. 2499 จะบูรณะครั้งใหญ่จนมีสภาพเหมือนทุกวันนี้ ระหว่างบูรณะมีการค้นพบพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมากในองค์พระ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
เวลาทำการ : ทุกวัน วันธรรมดา 8.00-16.30 น. วันหยุด 8.00-17.00 น.
ที่ตั้ง : ภายในเกาะเมือง ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์
ศาลหลักเมืองและเสาหลักเมืองในปัจจุบันคือของใหม่ เนื่องจากหลักเมืองดั้งเดิมชำรุดสูญหายไปจากเหตุการณ์ในอดีต โดยศาลแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 ในลักษณะพระมณฑปจตุรมุขทรงไทย สี่เหลี่ยมจัตุรัส เสาหลักเมืองสร้างจากไม้ชัยพฤกษ์ สูงจากพื้นดินอาคารชั้นล่างขึ้นไปสู่ยอดพระปรางค์ด้านบน และมีเสาหลักเมืองจำลองสำหรับประชาชนที่ต้องการปิดทอง ผูกผ้าแพร หรือถวายดอกไม้
ที่ตั้ง : ภายในเกาะเมือง ตำบลประตูชัย บริเวณสี่แยกถนนป่าโทน ตัดกับถนนศรีสรรเพชญ์
วัดเก่าแก่สร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเป็นราชธานี โบราณวัตถุสำคัญซึ่งค้นพบที่วัดธรรมิกราชคือเศียรธรรมิกราช ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ขณะที่ในวัดมีพระเศียรจำลองให้สักการะ และยังมีซากโบราณสถาน พระอุโบสถเก่า พระเจดีย์สิงห์ล้อมที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นเจดีย์สิงห์ล้อมในอยุธยาเพียงองค์เดียวที่เหลืออยู่ รวมทั้งพระนอนในวิหาร และหลวงพ่อขาว ในพระอุโบสถ
ที่ตั้ง : ภายในเกาะเมือง ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี
สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายโดยพระราชบิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ก่อนขึ้นครองราชย์) จึงเปรียบเสมือนพระอารามหลวงแห่งราชวงศ์ พระประธานภายในพระอุโบสถมีพระนามว่าสมเด็จพระพุทธชนกศาสดา ปฐมบรมสุวรรณรัฏฐ์จักรี ซึ่งขยายแบบมาจากพระแก้วมรกต สำหรับพระวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สวยงามน่าดูชม
ที่ตั้ง : อยู่ในเกาะเมืองทางทิศตะวันออก ตำบลหอรัตนไชย ถนนอู่ทอง ไม่ไกลจากป้อมเพชร
เป็นวัดผสมสองรูปแบบคือมีโบราณสถานสำคัญ โดยเฉพาะพระเจดีย์ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด และเป็นวัดซึ่งมีพระจำพรรษา สันนิษฐานว่าพระเจดีย์ใหญ่สร้างขึ้นหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุตธหัตถีชนะพม่า และได้รับการบูรณะเรื่อยมา นอกจากนี้ยังมีพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งเพราะพระวิหารพังทลายลงแล้ว เชื่อกันว่าสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรเช่นกัน
เวลาทำการ : ทุกวัน 8.00-17.00 น. ชาวไทยเข้าชมฟรี
ที่ตั้ง : อยู่บนทางหลวง 3477 (บางปะอิน – อยุธยา) เข้ามาจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม 1 กิโลเมตร อยู่ทางซ้านมือ
พระอารามซึ่งสร้างตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงโปรดฯ ให้สร้างบริเวณเดิมกับที่เคยใช้เป็นที่ประทับระหว่างอพยพมาตั้งค่ายพักแรมก่อนการก่อตั้งกรุงศรี ป้จจุบันเป็นวัดราษฎร์มีพระภิกษุจำพรรษา ทว่ามีโบราณสถานน่าสนใจมากมาย จุดเด่นคือพระปรางค์องค์ใหญ่ ศิลปะขอม ด้านหลังมีซากโบราณสถานสำคัญ รวมถึงวิหารพระนอนที่องค์พระยังคงสมบูรณ์
ที่ตั้ง : อยู่นอกเกาะเมืองทางทิศใต้ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลสำเภาล่ม
พระอารามหลวงชั้นตรีสร้างขึ้นเก่าแก่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ก่อนบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 1 ผู้มาเยือนนิยมเข้าไปสักการะรอยพระพุทธบาทจำลอง กับพระพุทธรูปยืนสององค์ ภายในพระวิหารด้านซ้าย กับสักการะรูปหล่อพระภิกษุอดีตเจ้าอาวาสในพระวิหารด้านขวา รวมทั้งรูปหล่อสมเด็จพระพนรัตน์ป่าแก้ว พระอาจารย์ในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธกษัตราธิราชเป็นพระประธาน
ที่ตั้ง : อยู่ที่ตำบลบ้านป้อม นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันตก
แม้วัดพนัญเชิงจะดูเหมือนวัดใหม่ แต่จริงแล้ววัดแห่งนี้มีประวัติเก่าแก่สร้างขึ้นก่อนเกิดอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ประชาชนมักมาที่นี่เพื่อสักการะพระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต ที่ภาษาจีนเรียกว่าซำปอกง พระพุทธรูปซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของอยุธยา ชาวบ้านผู้เคารพศรัทธาจะถวายจีวรแด่หลวงพ่อโต และมีพิธีห่มจีวรให้หลวงพ่อ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของวัดพนัญเชิง
ที่ตั้ง : อยู่บนทางหลวง 3477 (บางปะอิน – อยุธยา) เข้ามาจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม 2.5 กิโลเมตร
มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นวัดเดียวในเขตรอบเมืองอยุธยาที่ไม่ถูกทำลายระหว่างการเสียกรุงครั้งที่ 2 ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์องค์ใหญ่ อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีกหลายองค์ในวัด อาทิ หลวงพ่อขาว หุ้มด้วยเงินสีขาวบริสุทธิ์ พระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาศิลปะทวารวดี ขณะที่ข้างพระอุโบสถมีเจดีย์รายเก่าแก่สามองค์ องค์หนึ่งมีเศียรพระถูกห่อหุ้มด้วยรากต้นโพธิ์คล้ายกับที่วัดมหาธาตุ
ที่ตั้ง : อยู่ด้านนอกเกาะเมืองทางทิศเหนือ ริมคลองสระบัว ข้ามสะพานจากเกาะเมืองออกไปเล็กน้อย
เป็นหนึ่งในวัดซึ่งสวยงามและแปลกมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากสร้างขึ้นตามศิลปะตะวันตก หรือโกธิคของยุโรป ทำให้ดูเหมือนโบสถ์คริสต์มากกว่าวัดไทย สร้างตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน จึงเปรียบเสมือนวัดประจำวัง ดังเช่นวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง
เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะขนาดเล็กกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การจะไปเที่ยวชมต้องนั่งกระเช้าไฟฟ้าข้ามแม่น้ำ สามารถขึ้นกระเช้าได้บริเวณจุดจอดรถสำหรับเยี่ยมชมพระราชวังบางปะอิน ค่าใช้จ่ายบริจาคให้วัดตามจิตศรัทธา
ที่ตั้ง : อำเภอบางปะอิน ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 600 เมตร สามารถนั่งกระเช้าข้ามแม่น้ำไปยังวัดได้ที่ลานจอดรถสำหรับเที่ยวชมพระราชวังบางปะอิน
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปี พ.ศ. 2175 ในบริเวณซึ่งเคยเป็นเคหสถานของพระชนนีของพระองค์ ก่อนมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานทั้งหมด 7 องค์ หมายถึงพระพุทธเจ้า 7 องค์หลังสุดตามที่ปรากฎในพระไตรปิฎก
ที่ตั้ง : ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน ติดกับพระราชวังบางปะอิน
วัดต่างๆ ที่นำเสนอนี้ เป็นเพียงบางส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น ภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีวัดต่างๆ อีกมากมายหลายวัดทั้งในตัวเมืองและตามอำเภอต่างๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดินทางกันได้ตามแต่ละท่านจะชอบและสะดวกในการเดินทางไหว้พระขอพรกันได้
#GoAyutthaya #Ayutthaya #AyutthayaThailand #Thailand #อยุธยา #ไปอยุธยา #เที่ยวอยุธยา #ชมอยุธยา #เมืองอยุธยา #จังหวัดพระนครศรีอยุธยา #พระนครศรีอยุธยา #จังหวัดอยุธยา #แหล่งโบราณ #เมืองมรดกโลก