๑. พระมงคลบพิตร
ประดิษฐานที่วิหาร วัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากพุทธลักษณะ และการค้นพบพระพุทธรูปขนาดเล็กแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง (ขัดสมาธิเพชร) บรรจุไว้ในพระอุระ แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยและศิลปะล้านนา แล้ว จึงเชื่อว่า พระมงคลบพิตรน่าจะสร้างขึ้น ในสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรษ ที่ ๒๐ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน สูง ๑๒.๔๕ เมตร
๒. พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่
ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่นี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ในสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในความหมายของปางทรมานพญามหาชมพู กษัตริย์ที่ถือพระองค์ว่า เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล พระพุทธองค์จึงเนรมิตพระองค์ ให้อยู่ในเครื่องทรงอย่างจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่กว่าพญามหาชมพู และทรงเทศนาโปรด จนกษัตริย์พระองค์นี้ ยอมผนวช และสำเร็จเป็นพระอรหันต์
ลักษณะพระพุทธรูปแสดงให้เห็นถึงงานช่างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ฉาบด้วยปูนปั้น ลงรักปิดทอง ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชทานนามว่า พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโพลี ศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ
ขอบคุณที่มา :