⚜️พระปรางค์ (ปรางค์ประธาน)
ณ วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา
..
⚜️ปรางค์ประธาน วัดพุทไธศวรรย์นั้นได้รับอิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมมาจากปราสาทขอม ซึ่งขอม หรือ เขมรโบราณนั้นมีความเชื่อว่า การสร้างศาสนสถานจะต้องมีการสร้างปรางค์ประธานเป็น Center ที่เปรียบประดุจเขาพระสุเมรุ หรือเขาไกลาสอันเป็นที่ประทับของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
⚜️ปรางค์ประธานของวัดพุทไธศวรรย์แห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตก มีห้องพระครรภธาตุ ภายในมีพระเจดีย์ทรงปราสาทที่มีลวดลายปูนปั้นประดับอย่างละเอียด วิจิตร ยอดของพระเจดีย์นี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ด้านหลังมีพระนอน (พระพุทธรูปปางไสยาสน์) องค์สีดำประดิษฐานอยู่
⚜️ด้านหน้าของห้องพระครรภธาตุมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานขนาบทางเข้าอยู่ทั้งสองข้าง รอยพระพุทธบาทจำลองนั้น มีลวดลายที่งดงามมาก รอยที่ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายมือมีสภาพสมบูรณ์กว่าทางขวามาก มองเห็นลวดลายชัดเจน คิดว่าน่าจะสร้างภายหลังรอยด้านขวา
⚜️ที่ซุ้มพระปรางค์ด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีซุ้มเรือนแก้วที่มีเทวดาแบกอยู่สองข้าง เป็นปูนปั้นประดับด้วยกระจกสีสวยงามมาก
⚜️บริเวณด้านล่างของพระปรางค์มีมณฑปขนาบซ้ายขวา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนต้นที่สวยงาม แต่ข้างในแอบมีค้างคาวตัวเล็กอาศัยอยู่ ค้างคาวไม่ทำอันตรายแต่อาจทำให้เราตกใจได้บ้าง
⚜️ตามประวัติวัดพุทไธศวรรย์นั้นสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้พลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุศรีอยุธยาเป็นราชธานี
⚜️ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “ตำบลเวียงเล็กหรือเวียงเหล็ก” ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม เมื่อคราวเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310
วัดพุทไธศวรรย์เป็นอีกวัดหนึ่งที่มิได้ถูกข้าศึกทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ ทำให้เรายังคงเห็นความสมบูรณ์สวยงามจนถึงปัจจุบันนี้