จิตรกรรมแบบแผนประเพณีไทย มีวัสดุสำคัญคือสีฝุ่นผสมกาวน้ำ เขียนประดับผนังคูหาของอาคาร เช่นอุโบสถ วิหาร หรือผนังกรุ ผนังคูหาเจดีย์ และบนกระดาษที่เย็บเป็นสมุดภาพ จิตรกรรมดั้งเดิมอาจมีอยู่ในสมัยทวารวดีมาแล้ว แต่ความที่เขียนวาดวัสดุทีละลายน้ำได้ เมื่อน้ำฝนรั่วจากหลังคา รวมทั้งละอองน้ำ แม้ความชื้นทั้งในอากาศและความชื้นที่ขึ้นมาจากใต้ดินความเค็ม จึงชำรุดเสียหาย
จิตรกรรมฝาผนังที่ยังเหลือให้ศึกษาได้ดีพอใช้ มีอายุอยู่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เหลือที่เขียนประดับผนังกรุ ซึ่งปลอดภัยจากน้ำฝนมากกว่าอุโบสถ วิหารอันเป็นอาคารหลังคาคลุม เช่นจิตรกรรมผนังกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้ “พระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐฯ” ระบุว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ในพ.ศ. ๑๙๖๗
.
ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ขณะที่กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งภายในวัดมหาธาตุ คนร้ายได้ลักลอบขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะได้ของมีค่าจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงดำเนินการขุดกรุในองค์ประธานอีกครั้ง พบเครื่องราชูปโภคซึ่งทำด้วยทองคำ พระพิมพ์ส่วนหนึ่งนั้นกรมศิลปากรได้เปิดให้ประชาชนเช่าไปบูชา เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และนำสิ่งของที่ได้จากกรุมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขุดแต่งทำบันได ให้ประชาชนสามารถลงไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้น ภายในกรุนี้ได้ด้วย.
ปรางค์ประธานองค์นี้ มีกรุมหาสมบัติอยู่ ๓ กรุ เรียงลำดับอยู่ในระดับความสูงฐานของเจดีย์ (มิใช่อยู่ใต้ระดับพื้นดิน)
แต่ก็ไม่รอดพ้นจากการทำลายของนักขุดกรุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งสืบเนื่องมาเป็นข่าวร้อน เรื่องศิราภรณ์ทองคำในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ โดยที่นักวิชาการไทยบางท่านก็เชื่อบางท่านก็ไม่เชื่อ ว่าได้ไปจากกรุของปรางค์ประธานองค์นี้
คำให้การของคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุ
ในพิพิธภัณฑ์ มีข้อความบรรยายถึงลักษณะสมบัติชิ้นต่าง ๆ ตลอดจนตำแหน่งการจัดวางของสิ่งของภายในกรุ เมื่อครั้งที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายใด ๆ เกิดขึ้น เป็นคำให้การของคนร้ายที่ลักลอบขุดสมบัติในองค์ปรางค์วัดราชบูรณะ ได้ความว่า
“ที่ข้างล่างนั้นมีโต๊ะสำริดสามตัว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกตัวหนึ่ง ทางทิศเหนือตัวหนึ่ง ทางทิศใต้ตัวหนึ่ง ตอนกลางของกรุนั้นทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างในราวหนึ่งวาเศษ ข้างบนแท่นศิลาตรงกลางกรุนั้น มีถาดทองคำสามใบ ข้างบนถาดนั้นมีกระโถนทองคำสี่ใบวางอยู่บนถาดนั้น มีไข่มุกเจาะเป็นรอยเต็มกระโถนทั้งสี่ลูกนั้น ยังมีตลับทองคำอีกหลายใบวางอยู่ข้างแท่นสี่เหลี่ยมนั้น เป็นร่องสี่เหลี่ยมเหมือนกัน มีแหวนประมาณสองร้อยกว่าวง เพราะในนั้นกว้างมาก
ข้างบนของแท่นนั้นมีโต๊ะสำริดสามตัว บนโต๊ะนั้นทางทิศเหนือมีพระแสงทองคำปักไว้ข้างขอบโต๊ะนั้น ทางเหนือมีเสื้อทองคำอยู่แปดตัว และมหามงกุฎมีอันหนึ่ง กว้างประมาณหนึ่งศอก สูงสองศอกเศษ บนยอดของมหามงกุฎพระราชินีสามอันวางไว้บนโต๊ะนั้น และตลับทองคำหัวประดับทับทิมยี่สิบใบ จอกหลายใบ เสื้อทองคำของพระมหากษัตริย์สามตัว เรือหงส์หนึ่งลำเป็นทองคำ คนพายเรือทองคำ
และพระพุทธรูปทองคำยี่สิบองค์ กระบวยทองคำแปดอัน โหลสี่ใบทำด้วยหินสีขาว พร้อมม่านทองคำขึงท้องพระโรงก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง โต๊ะทางทิศใต้ ข้างบนโต๊ะมีพระพุทธรูปทองคำ ยี่สิบห้าองค์ ตลับทองคำสิบสามตลับ ฝาตลับประดับด้วยทับทิมสีแดง
พระแก้วนั่งสีขาวห้าองค์ พระแก้วยืนสีน้ำผึ้งเจ็ดองค์ พระมหามงกุฎราชินีแปดอัน พระแก้วเก้าองค์ ทางด้านทิศตะวันตก ผ้าพับไว้อย่างดีมากมาย เมื่อไปถูกเข้าก็ป่นเป็นผงไปหมด แล้วมีพระทองคำสามองค์ หน้าตักกว้างหนึ่งศอกด้วย หนักราวประมาณเก้ากิโลกรัม
พระนาคสิบสององค์หน้าตักกว้างหนึ่งคืบเศษ พระพุทธรูปทำด้วยทอง นาก เงิน แปดองค์ พระปั้มทองและเงินสองกระสอบ พระแก้วยืนสิบหกองค์ สีขาว มีพระราชรถหนึ่งคัน มีม้าเทียมคู่หนึ่งทำด้วยทองคำ มีขวดหกลูกทำด้วยหินสีขาว มีแหวนในนั้นเต็มขวด และเศษทองคำอีกมากมาย ประมาณสิบกระสอบ…”
ที่ว่าไม่รอดพ้นก็เพราะเหล่ามิจฉาชีพหย่อนตัวลงจากพื้นคูหาปรางค์ลงมาห้องกรุที่ 1 ผนังกว้างด้านละ 1.40 เมตร สูง 1.50 เมตร จิตรกรรมผนังกรุ ไม่มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการชำรุดเสียหายจากการหย่อนตัวลงมาของนักขุดกรุนัก
ครั้นผ่านลงมาห้องกรุที่ 2 ซึ่งผนังกว้างด้านละ 1.40 เมตรเช่นกัน แต่สูงถึง 2.50 เมตรนักขุดกรุต้องหย่อนตัวลงมา จึงต้องหาหลักประคองตัวก่อนที่เท้าจะลงถึงพื้นกรุ จึงต้องกางขาทั้งสอง แล้วใช้ฝ่าเท้ายันผนังเพื่อพยุงตัว (หากสังเกตให้ถี่ถ้วน อาจจะทราบได้ว่ารอยชำรุดถูกครูดเสียหายเกิดจากคนร้ายใส่รองเท้า หรือไม่ใส่ หากใส่เป็นรอยของรองเท้าแบบใดบ้าง) เพราะร่องรอยจิตรกรรมผนังกรุที่ชำรุดเสียหายบ่งอยู่ว่าไม่ได้เกิดจากความชื้น หรือจากรอยน้ำไหลชะลงมา แต่เกิดจากฝ่าเท้าที่ตะกุย ประมาณไม่ได้ว่า ตะกุยขึ้นๆ ลงๆ กันกี่ครั้ง
เฉียดรอยชำรุดเสียหายที่ว่า หลงเหลือเพียงบางส่วนของภาพพุทธประวัติ ตอนพระนางสิริมหามายาบรรทมในพระมหาปราสาท ทรงพระสุบินว่า พญาช้างเผือก “ชูงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาวพึ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตลบ…แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมครบถ้วน 3 รอบ แล้วเหมือนดุจเข้าไปในเพราะสภาพเสียหาย จึงไม่ค่อยเป็นที่สังเกตหรือรู้จักกัน ทั้งที่สำคัญนัก เพราะภาพพุทธประวัติตอนนี้เป็นตัวอย่างเดียวที่หลงเหลือให้รู้จักกันในปัจจุบัน (รวมทั้งภาพพระอดีตพุทธเจ้า ภาพพุทธประวัติตอนอื่นๆ และภาพเรื่องชาดก ของผนังกรุที่ 2 นี้ ที่บางส่วนถูกทำลายไปในคราวนั้น ) การทำลายอย่างสำคัญครั้งนั้น เป็นตัวอย่างของความสูญเสียที่เตือนให้ตระหนักถึงความเข้าใจในคุณค่า และการดูแลรักษาให้ดีเสียก่อน ก่อนจะออกมาเรียกร้องใดๆเมื่อเสียหายไปแล้ว