“กรุงศรีอยุธยา” หรือชื่อเดิมว่า “กรุงอโยธยา” เป็นชื่อเมืองที่เลียนแบบมาจากชื่อเมืองของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งชื่อ กรุงอโยธยา ถูกเปลี่ยนมาเป็นกรุงศรีอยุธยา ในช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในตอนปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามข้อมูลที่พบในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่เก่าที่สุด
ภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา
เมืองหลวงของไทยในสมัยโบราณนี้ ถือว่าเป็นอาณาจักรที่มีความได้เปรียบทางสภาพภูมิศาสตร์เป็นอย่างมาก กล่าวคือ กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ใจกลางแม่น้ำ 3 สาย ที่ไหลมาบรรจบกัน อันได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้กรุงศรีอยุธยามีลักษณะทางสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะที่มีแม่น้ำล้อมรอบ และมีถนนรอบเกาะยาวถึง 12 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม นอกจากนี้ การตั้งถิ่นฐานในที่นี้ ยังเป็นบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งเหมาะแก่การทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา เพาะปลูกข้าวเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับทางออกสู่ทะเลพอสมควร จึงค่อนข้างสะดวกต่อการติดต่อทำมาค้าขายและส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการค้ากับต่างประเทศได้เป็นอย่างดี พื้นที่ของกรุงศรีอยุธยาจึงมีอาณาเขตที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่หลายแบบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำตอนกลางของประเทศทั้งหมด และเป็นราชอาณาจักรที่แพร่อิทธิพลครอบคลุมไปจนถึงแหลมมลายู และพื้นที่ส่วนใหญ่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศด้วย
ก่อนอาณาจักรอยุธยา
ก่อนจะก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาขึ้นมา ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่พื้นที่ในประเทศไทยในเวลานั้น มีการก่อตั้งอาณาจักรขึ้นหลายอาณาจักร เช่น สุโขทัย ล้านนา (เชียงใหม่) ล้านช้าง (หลวงพระบาง) เป็นต้น แต่อาณาจักรที่สร้างขึ้นมานี้ยังคงมีลักษณะเป็น “แว่นแคว้น” หรือ “เมือง” ที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาอย่างอิสระ ยังมิได้มีอาณาจักรหนึ่งอาณาจักรใดที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรือถือเป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในสมัยนั้นอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้อาณาจักรอยุธยาถือกำเนิดขึ้นมา โดยตั้งต้นจากการรวมตัวของเมืองสุพรรณบุรีและเมืองลพบุรี ซึ่งทั้งสองเมืองนี้ล้วนเป็นศูนย์กลางของอำนาจในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดย ‘เมืองสุพรรณบุรี’ นั้น จะมีอำนาจยิ่งใหญ่ในแถบซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และมีเมืองเก่าหลายเมือง เช่น นครชัยศรีหรือนครปฐม, ราชบุรี, เพชรบุรี รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ในขณะที่ ‘เมืองลพบุรี’ ก็ถือเป็นเมืองที่มีอำนาจใหญ่โตทางฝั่งซีกตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเมืองที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองเมืองมารวมตัวกัน จึงเป็นการรวมกลุ่มที่มีอำนาจมากเพียงพอที่จะก่อตั้งเป็นอาณาจักรใหม่ที่มีนามว่า “อยุธยา” ได้นั่นเอง