กรุงศรีอยุธยา มีพัฒนาการมาจากบ้านเล็กเมืองน้อยบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำในภาคกลาง นับตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ 12 (หลัง พ.ศ.1100) หรือกล่าวอย่างกว้าง ๆ ว่าตั้งแต่ยุค “ทวารวดี” ลงมา
ศูนย์กลางของกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นชุมทางแม่น้ำหลายสาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ซึ่งล้วนเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกับบ้านเมืองภายใน ทั้งทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทางเหนือ และทางอีสาน
ลำน้ำเหล่านี้ไหลมารวมกับลำน้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ตั้งพระนครศรีอยุธยา แล้วกลายเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลลงไปออกอ่าวไทย จึงเป็นเส้นทางน้ำใหญ่ที่เรือสินค้าต่างประเทศแล่นเข้าถึงพระนครศรีอยุธยาได้
เหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นเมืองท่าสำคัญ มีเส้นทางคมนาคมติดต่อค้าขายได้ทั้งภายในและภายนอก ฉะนั้นจึงมีสภาพเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมได้ดีกว่าบรรดาเมืองอื่น ๆ ในขณะนั้น
โดยเฉพาะ วัดพนัญเชิง เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่แบบอู่ทอง ที่พงศาวดารระบุว่าสร้างขึ้นก่อนการสถาปนาพระนครศรีอยุธยา (ใหม่) ถึง 26 ปี แสดงว่าบริเวณนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นนครใหญ่มาช้านานแล้ว ก่อนพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) จะเสด็จขึ้นครองราชย์.
และยังมีหลักฐานด้านกฎหมายอีกหลายลักษณะที่ตราใช้ขึ้นก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) คือ:
กฎหมายลักษณะกู้หนี้ ตราขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา 2 ปี
กฎหมายลักษณะทาส ตราขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา 2 ปี
กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ตราขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา 7 ปี
กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จตอนท้าย นักปราชญ์หลายท่านได้ตรวจสอบศักราช พร้อมทั้งตรวจสำนวนโวหารและร่องรอยอื่น ๆ แล้ว ยืนยันตรงกันว่า ตราขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่น้อยกว่า 115 ปี