สงครามยุทธหัตถี เป็นการต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง ซึ่งเป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ ดังเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า และมีชัยในการกระทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น
ในการกระทำยุทธหัตถีนั้น บนหลังช้างจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ และจะสับเปลี่ยนที่นั่งกันตอนกระทำการรบเท่านั้น ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน
ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถีจะมี หอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพ จะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่าย โดยไม่เจ็บปวด
หลังจากการแข็งเมืองและประกาศอิสรภาพโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในปี พ.ศ. ๒๑๒๖ และความพ่ายแพ้ของหงสาวดีหลายครั้งตลอดระยะเวลาหลายปีในความพยายามที่จะตีกรุงศรีอยุธยากลับไปเป็นประเทศราช ทำให้หัวเมืองประเทศราชอื่นๆของหงสาวดีต่างมีท่าทีแข็งเมือง เป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรง จำเป็นจะต้องเร่งพิชิตกรุงศรีอยุธยาลงให้ได้เพื่อรักษาอำนาจของหงสาวดีเอาไว้
ในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้พระมหาอุปราชามังสามเกียด (หรือมังกะยอชวา) นำไพร่พลรวม ๒๔๐,๐๐๐ นาย เข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ ครั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าหงสาวดีจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมกำลังไพร่พลประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ นาย เดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย
เช้าของวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง (๑๘ มกราคม) พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งช้างทรงทั้งสองนั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้างและชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากัน ช้างทรงซึ่งกำลังตกมัน ได้วิ่งถลำลึกเข้าไปในเขตแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน จนสมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงได้ทรงทราบว่าได้หลงเข้ามาถึงกลางกองทัพศัตรูแล้ว
ด้วยความที่สถานการณ์เสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด จึงทรงแก้สถานการณ์โดยทรงขับช้างพระที่นั่งตรงไปยังพระมหาอุปราชา แล้วร้องตรัสไปโดยฐานที่คุ้นเคยกันมาแต่ทรงพระเยาว์ว่า
“พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว”
พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะ(ไหล่)ขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ชนช้างกับเจ้าเมืองจาปะโร และฟันเจ้าเมืองจาปะโรตายเช่นกัน
หลังจากนั้นทหารพม่าก็เข้ามากันพระศพพระมหาอุปราชา และเจ้าเมืองจาปะโรออกไป แล้วเข้าระดมยิงถูกสมเด็จพระนเรศวรที่พระหัตถ์ได้รับบาดเจ็บ และถูกนายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่ง กับหมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถ ตายทั้งสองคน ขณะนั้น กองทัพเจ้าพระยามหาเสนา พระยาสีหราชเดโชชัยตามไปทัน ก็ช่วยกันรบพุ่งแก้กันทั้งสองพระองค์ออกมาได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่า กองทัพข้าศึกแตกเฉพาะทัพหน้า กำลังฝ่ายไทยที่ตามเสด็จไปถึงเวลานั้นมีน้อยนัก จึงจำต้องเสด็จกลับมาค่ายหลวง ฝ่ายข้าศึกก็เชิญพระศพพระมหาอุปราชา เลิกทัพกลับไปเมืองหงสาวดี หลังจากศึกครั้งนี้ พม่าก็ไม่ได้ยกทัพเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย เป็นระยะเวลายาวนานถึงกว่า ๑๖๐ ปี
ยุทธหัตถีที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมีอยู่ 5 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ครั้งที่ 2 สิ้นรัชกาลพระอินทราชา พ.ศ. 1917
ครั้งที่ 3 รัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 2006
ครั้งที่ 4 รัชกาลพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. 2091 (เกิดวีรสตรีพระศรีสุริโยทัย)
ครั้งที่ 5 พระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา พ.ศ. 2135
“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”หมายถึง วันที่ระลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ ต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อัน ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี”
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ทุกท่านสามารถ : ส่งรายละเอียดข้อมูลอื่นๆ ที่ท่านอยากให้ทางทีมงาน Go-Ayutthaya ลงประชาสัมพันธ์ให้ หรือให้ทางทีมงานไปเก็บข้อมูลมาลงประชาสัมพันธ์ ท่านสามารถส่งมาได้ทาง E-Mail : go.ayutthaya@gmail.com
ติดตาม Go-Ayutthaya ได้ทาง https://www.facebook.com/goayutthaya/
& http://www.go-ayutthaya.com/ ทุกวัน
#GoAyutthaya #Ayutthaya #AyutthayaThailand #Thailand #อยุธยา #ไปอยุธยา #เที่ยวอยุธยา #ชมอยุธยา #เมืองอยุธยา #จังหวัดพระนครศรีอยุธยา #พระนครศรีอยุธยา #จังหวัดอยุธยา #แหล่งโบราณ #เมืองมรดกโลก