ผวจ.นิวัฒน์ฯ ลงพื้นที่ปราสาทนครหลวง เพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่ต้องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระใบฎีกาพิทักษ์ รตนวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดนครหลวง นายศุภสิทธิ์ เอี่ยมเจริญ นายอำเภอนครหลวง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ ปราสาทนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดย นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ ได้เชิญสำนักศิลปากรที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหาแนวทางเชื่อมโยงและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางหลังออกจากอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งได้เดินสำรวจพื้นที่โดยรอบปราสาทนครหลวง เพื่อเตรียมพัฒนา ฟื้นฟู ภูมิทัศน์ต่าง ๆ และบริเวณวัดนครหลวง จนถึงตลาดริมน้ำ ซึ่งมีร้านค้ากว่า 70 ร้าน มาจำหน่ายสินค้าขึ้นชื่อของอำเภอนครหลวง ให้บริการนักท่องเที่ยวในวันเสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. อีกด้วย
“ปราสาทนครหลวง” มีประวัติความเป็นมา โดยสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพ.ศ. 2147 พระองค์ได้โปรดให้ช่างจำลองแบบมาจากปราสาทที่กัมพูชาแล้วสร้างเป็นที่ประทับ ก่ออิฐถือปูน โดยนำมาสร้างใกล้กับวัดเทพจันทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีก
แต่ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ในสมัยนั้น ต่อ มาในปีพ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นพร้อมๆกับสร้างพระพุทธบาทสี่รอยไว้บน ลานชั้นบนของปราสาท นับแต่นั้นมาปราสาทนครหลวงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัด สิ่งที่น่าสนใจของ “ปราสาทนครหลวง” นั่นก็คือ ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเขา ซึ่งทำขึ้นโดยนำดินมาถมให้สูง มีระเบียงล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น แต่ละชั้นมีประตูเข้าสู่ชั้นสูงสุดนับสิบประตู ระเบียงคดแต่ละชั้นสร้างปรางค์ประจำทิศทั้งสี่มุม และที่กึ่งกลางก็มีปรางค์ด้วย ในปราสาทมีสิ่งที่น่าชมคือภายในมีปรางค์ประมาณ 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอม แต่ก่อด้วยอิฐ ไม่ใช่ศิลาแลง องค์ปรางค์มีการย่อมุมไม้ยี่สิบ หมายถึงมุมหนึ่งทำเป็นมุมเล็กได้ห้ามุม (สี่มุมคูณด้วยห้าจึงมี 20 มุม) จากการบูรณะของกรมศิลปากรพบว่า การสร้างปรางค์ของเดิมใช้โครงไม้ขึ้นรูปก่อนแล้วก่ออิฐล้อตาม
โดย ชั้นบนสุดปราสาทนครหลวง จะเป็นที่ตั้งของมณฑปจตุรมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเอาไว้ข้างใน ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งระเบียงคด คือส่วนที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์ ปัจจุบันเหลือแต่ผนังของระเบียงคด และอีกหนึ่งจุดสำคัญคือ ตำหนักนครหลวง หรือ ศาลพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนครหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจัตุรมุข ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปลัด (ปลื้ม) หรือพระครูวิหาร-กิจจานุการได้นำพระจันทร์ลอยจากวัดเทพจันทร์ลอย ต.พระจันทร์-ลอย อ.นครหลวง ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทนครหลวงมาประดิษฐานไว้สำหรับแผ่นหินพระจันทร์ลอย มีลักษณะเป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร หนา 6 นิ้ว บนแผ่นหินมีรูปแกะสลักที่ค่อนข้างดูยาก ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปพระเจดีย์สององค์และพระพุทธรูปสามองค์ ส่วนอีกด้านหนึ่งสลักเป็นรูปปลาคล้ายสัญลักษณ์ราศีมีน