วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2231-2246 ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์อยุธยาองค์ที่ 28 แห่งราชวงค์บ้านพลูหลวงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในบริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถาน (บ้าน) เดิมเมื่อครั้งยังรับราชการกรมช้าง ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์มีลักษณะแตกต่างจากวัดอื่นหลายประการ นั่นคือวางตัวเรียงแนวเหนือใต้ หน้าวัดหันไปทางทิศเหนือเพื่อเลี่ยงคลองและถนนตามผังเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีคลองฉะไกรน้อยอยู่ทางทิศตะวันออก
ส่วนทิศตะวันตกก็ติดถนนมหารัฐยาหรือถนนป่าตอง ส่วนงานสถาปัตยกรรม ก่อสร้างตามพระราชดำริของสมเด็จพระเพทราชาที่โปรดฯ ให้หมื่นจันทรา ช่างเคลือบกระเบื้องสีใช้กระเบื้องเคลือบสีเหลืองหลังคาพระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ รวมทั้งใช้ประดับเจดีย์และซุ้มประตู กลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่มาของชื่อ วัดกระเบื้องเคลือบ เมื่อมาแล้วไม่ควพลาดชมงานประดับมุกอันงดงามที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเมื่อคราวที่ทรงบูรณะวัดแห่งนี้ครั้งใหญ่
โดยประตูมุกทั้ง 3 บานนี้ปัจจุบันกระจัดกระจาย ไปเก็บรักษาไว้ยังสถานที่ต่าง ๆ คู่หนึ่งอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกคู่หนึ่งอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และอีกคู่หนึ่งถูกลักลอบตัดไปทำตู้หนังสือและติดตามคืนมาได้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร ส่วนงานพุทธสถาปัตย์อื่น ๆ ก็น่าชมไม่แพ้กัน เช่น พระอุโบสถที่ตั้งอยู่บนฐานแอ่นโค้งเหมือนเรือสำเภาตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย มีมุขโถงทั้งด้านหน้าและหลังด้านหน้ามีประตู 3 ช่อง ด้านหลังมีช่องประตู 2 ช่อง ด้านข้างมีช่องหน้า ที่ประดับด้วยบันแถลง ซุ้มประตูปูนปั้นเป็นรูปพระจุฬามณี
ภายในมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปหินทรายถือปูนปางมารวิชัย ด้านหน้าพระอุโบสถถือปรางค์เจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบแปด ฐานล่างประดับลายแข้งสิงห์ ประดับซุ้มเรือนธาตุด้านบนทั้งสี่ด้าน ทั้งยังมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีกองค์ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์เจดีย์ ฐานเจดีย์ประดับด้วยลวดบัวและลายแข้งสิงห์ และน่าเสียดายที่พระวิหารนั้นทรุดโทรมไปตามกาลเวลาเหลือเพียงฐานและผนัง แต่กระนั้นธรรมสถานอื่น ๆ ภายในวัดก็เป็นหลักฐานความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดี ในเวลาต่อมามีฐานะเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่จำพรรษาของพระราชาคณะด้วย เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.